รมว.ตรีนุช ร่วมงานรําลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีคารวะอนุสรณ์สถานคุรุวีรชนชายแดนใต้ ในงาน “รำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้” ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ซึ่งสมาพันธ์ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อระลึกถึง คุณงามความดี และความเสียสละ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ. นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ข้าราชการ ครู และบุคลากร เข้าร่วมพิธี ณ โรงแรมเซาท์เทิร์นวิวปัตตานี จังหวัดปัตตานี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 12 เพื่อระลึกถึง คุณงามความดี และ ความเสียสละ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา รวมทั้งสิ้น 183 ราย ซึ่งจากการรับฟังและติดตามรายงานสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด ก็มีความเห็นใจในความยากลำบากของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่นี่ รวมถึงน้อง ๆ ลูกหลานนักเรียน ที่ต้องประสบ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว
“เหตุการณ์เหล่านี้ คงไม่ใช่สิ่งที่ใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพวกเรา ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ต้องเข้ามาดูแลพี่น้องเราที่นี่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน และการดำรงชีวิต สิ่งใดที่ยังขาดเหลือ เราก็ต้องมาช่วยกันเติมให้เต็ม ให้พี่น้องในจังหวัดชายแดนใต้ของเรา สามารถเข้าถึงโอกาสได้ไม่แพ้พี่น้องภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ
แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะค่อย ๆ ทุเลาลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอยู่สิ่งหนึ่งที่พวกเราและพี่น้องชาวจังหวัดชายแดนใต้ ต้องประสบพบเจอไม่ต่างกัน คือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งที่ผ่าน ตนได้มอบนโยบายในการจัดการศึกษา และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ควบคู่กันไป โดยจัดให้มีการเรียนการสอนทั้ง 5 รูปแบบ หรือ 5 On มีการฉีดวัคซีนแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนวัคซีนสำหรับนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี และล่าสุด ทาง ศบค. ชุดเล็ก ได้เห็นชอบในหลักการ ให้มีการขยายช่วงอายุของเด็กที่จะได้รับวัคซีน เป็นระหว่างอายุ 5-11 ปี นอกจากนี้ ยังมี 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตราเข้มงวด เช่น ต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และ มีแผนเผชิญเหตุ สำหรับสถานศึกษา ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ตนเชื่อว่า เพียงพอต่อการรับมือ
ขอฝากทุกคนอย่าตระหนกและอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ด้วยวิถีปกติใหม่ให้ได้ เพราะโลกเราไม่มีทางกลับไปเป็นเช่นเดิม เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจถึงความผันผวนนี้ และปรับตัวให้มีทักษะที่จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางกระแสของการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสถานการณ์ ณ เวลานี้ คือ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนของเราไม่พลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ วันนี้ ครูของเราต้องเปลี่ยนจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” ที่จะคอยจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ให้ชุมชนและสังคมของเขา เป็น “ห้องเรียนชีวิต” ที่จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีและพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อื่น ๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชน และสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความพิเศษ และโดดเด่น จึงเชื่อว่ามีสิ่งดี ๆ ที่น่าสนใจ ให้เด็กเยาวชน รวมถึงพวกเราทุกคน ได้เข้ามาเก็บเกี่ยว เรียนรู้ และซึมซับวัฒนธรรมของที่นี่อีกมากมาย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
21/1/2565