เมื่อวันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช โดยมี นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายวิศวะ คงแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้, นายวรินทรททองขาว นายอำเภอช้างกลาง, นายบุญศักดิ์ ตั้งเกียรติกำจาย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งบุคลากรทางการศึกษา ให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมแก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของ รมช.ศึกษาธิการ ได้เป็นอย่างดี อาทิ โครงการเกษตรประณีต “งานฟาร์มประมงน้ำจืดครบวงจร”, โครงการอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานแก่บุคลากรทางการแพทย์อาสาสมัคร ที่ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19, โครงการน้อมรำลึกพระคุณพ่อของแผ่นดิน (ร.9) ปลานิลสินในน้ำ, โครงการสวนพืชสมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาอาการจากโรคโควิด 19, การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและสถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolations: Cl) ทำให้ทราบถึงความตั้งใจในการดำเนินงานวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช และทำออกมาได้เป็นอย่างดี มีคุณภาพ เป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ต้องการให้ วษท. เปลี่ยนจากครูผู้สอนเป็นวิทยากรกระบวนการ (Facilitator) โดยมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน และนอกห้องเรียน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนสนใจ เพื่อให้นักเรียนได้มีจินตนาการในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ โดยครูเป็นพี่เลี้ยงที่จะแนะนำให้นักเรียน ศึกษาและลงมือทำในสิ่งที่อยากทำและสนใจ, มีการปรับการจัดการเรียนรู้ STEM (Science Technology Engineering Mathematics) เป็น STEAM (Science Technology Engineering Arts Mathematics) โดยเพิ่ม “A” คือ Arts (Arts of Life) คือ ศิลปะในการมีชีวิตอยู่แบบคนไทย มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยเชื่อมโยงความเป็นอยู่และปัญหาในชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น ความเอื้อเฟื้อ เกี้อกูล ความเมตตากรุณา ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความมีศีลธรรมต้องควบคู่กับการเรียนการสอนและการปฏิบัติหรือการวิจัยในการแก้ปัญหาของสังคม พร้อมทั้งใช้ STI (Science Technology & Innovation) ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมโดยใช้กระบวนการเรียนการสอน STI หรือสติ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต เป็นผู้มีจิตสาธารณะและรู้จักการให้ เช่นเดียวกับสถาบัน KOSEN ซึ่งมุ่งผลิตวิศวกรทางด้านนวัตกรรมและวิศวกรเชิงปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปรียบเสมือนแพทย์ของสังคมที่เรียกว่า Social Doctor สถาบัน KOSEN จะคัดเลือกผู้เรียนที่มีจิตสาธารณะ รู้จักการให้ ซึ่งการให้เป็นการสร้างสังคมและคุณค่าของตนเอง ดังนั้นผู้ที่จะเข้าศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเป็นผู้มีจิตสาธารณะและรู้จักการให้เช่นเดียวกัน ตลอดจนนำ Coding มาเป็นหัวใจสำคัญของทักษะการเรียนรู้ ที่ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นกับเยาวชนคนไทยทุกคน “Coding กับ STI” จะต้องดำเนินไปควบคู่กันจึงจะสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีระบบ มีตรรกะ เป็นขั้นตอนในเชิงวิทยาศาสตร์ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะตัว รวมทั้งสังคมและประเทศได้
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสนามอำเภอช้างกลางแห่งที่ 2, เยี่ยมชมฟาร์มไรแดง และแผนกวิชาประมง เยี่ยมชมงานฟาร์มประมงน้ำจืดครบวงจร และปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ปลาซิว ภายในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราชอีกด้วย
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
29/10/2564