เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2563 เวลา 8.30 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและติดตามภารกิจของ กศน. สช. ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) พร้อมมอบหน้ากากอนามัยให้แก่โรงเรียนเอกชนและเครือข่ายในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายรัชพร วรรณคำ ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม นายธนากร ดอนเหนือ รองเลขาธิการ กศน. นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ รองเลขาธิการ กช. นายจักรกริช บุญเดช ผู้อำนวยการ กศน.จังหวัดมหาสารคาม นางนิตยา ศรีปัดถา ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัดมหาสารคาม คณะครู และบุคลากร กศน. สช. เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบาย กศน. WOW ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนงานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และสังคมอุดมปัญญาแก่ชาวมหาสารคาม สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็น การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การยกระดับประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ให้จบการศึกษาภาคบังคับ, ส่งเสริมการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา ทั้ง 13 อำเภอ, การอบรมหลักสูตร ผู้ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long Team Care), โครงการส่งเสริมการอ่าน ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ทั้งห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” บ้านหนังสือชุมชน รถโมบายส่งเสริมการอ่าน ห้องสมุดประชาชนสำหรับชาวตลาด การอ่านออนไลน์ หนังสือล่องหน เป็นต้น
ในส่วนของโรงเรียนเอกชนในจังหวัดมหาสารคามทั้ง 3 แห่ง ที่มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการการเตรียมจัดการเรียนการสอนรองรับการเปิดภาคเรียน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนผลงาน และนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ไปจนถึงรางวัลและผลงานโดดเด่นของนักเรียน ถือเป็นการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน ทั้งการคิดวิเคราะห์ การปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมควบคู่ไปด้วย พร้อมกับร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อจัดการศึกษาตอบสนองการพัฒนาจังหวัด อาทิ ความร่วมมือกับวิทยาลัยสารพัดช่าง ส่งเสริมการเรียนรูปแบบทวิศึกษา, การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำ (Active Learning) ภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) สะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นต้น
“ขอแสดงความชื่นชมผู้บริหาร ข้าราชการ ครู และเจ้าหน้าที่ทุกส่วนของสำนักงาน กศน.จังหวัดมหาสารคาม ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการขับเคลื่อนการจัดกระบวนการเรียนการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาต่อเนื่อง ครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ละเลยที่จะสืบสานวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คงอยู่คู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในส่วนของการศึกษาเอกชน ที่ผ่านมาได้ช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของรัฐบาล โดยผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เป็นทั้งคนเก่งและคนดี เพื่อไปเป็นกำลังสำคัญพัฒนาพื้นที่ และถือเป็นความโชคดีของชาวการศึกษาเอกชน ที่มีนายกสมาคม ปส.กช. ที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นจุดแข็งที่ต้องสนับสนุนต่อยอด และวางแผนงานแนวทางเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายการศึกษาเอกชนในพื้นที่นี้ และที่สำคัญคือ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยจากรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 พบว่า โรงเรียนเอกชนมีคะแนนเฉลี่ยของการใช้งานแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” สูงถึง 4.98 (คะแนนเต็ม 5) ถือเป็นลำดับที่ 1 ของประเทศ จึงขอแสดงความชื่นชม และขอให้คงคุณภาพและมาตรฐานการเฝ้าระวังโควิด-19 อย่างต่อเนื่องต่อไป
ขอย้ำว่า ทุกการเดินทางในทุกจังหวัด มีเป้าหมายเพื่อรับฟังปัญหาและต้องการเห็นสภาพจริงในพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของคนทุกช่วงวัย และชาวตักสิลา ก็ทำให้เห็นแล้วว่า การศึกษานำมาสู่การพัฒนา สร้างอนาคต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้พลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
19/6/2563