ยกระดับผลทดสอบPISA

โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) โดยมี ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก นักวิชาการ เข้าร่วมกว่า 50 คน จัดโดยสถาบันส่งเสริมเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2556



รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้ประเทศฟินแลนด์อยู่ในอันดับ 1 ของการทดสอบ PISA ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ของประเทศสมาชิกและประเทศที่เข้าร่วมโครงการกว่า 90% ของเขตเศรษฐกิจโลก และจากการหารือกับฝ่ายการจัดการศึกษาของฟินแลนด์ด้วยตนเอง พบว่าฟินแลนด์ไม่สนใจการทดสอบของ PISA มาก่อน แต่เมื่อเข้ามาทดสอบก็ได้ที่หนึ่ง รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไม่เคยทดสอบมาก่อนเช่นกัน แต่ก็เป็นที่ 1 ในทั้ง 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าจีนน่าจะเตรียมการเพื่อทดสอบมาบ้าง


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก OECD มีความตั้งใจและให้ความสนใจกับการทดสอบของ PISA แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งเป้าหมายต่อทั้งระบบการศึกษา ดังนั้นจึงต้องการจะตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดในเรื่องที่สำคัญๆ เพื่อเป็นแนวทางการจัดการศึกษาทั้งระบบให้มีคุณภาพ


จากคำกล่าวของ ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่าการศึกษาประเทศใดดี ก็จะทำให้ให้ผลการทดสอบ PISA ดีไปด้วย เป็นแนวคิดที่ดีที่ ศธ.จะนำมาดำเนินการจัดการศึกษาให้ดี เพื่อให้ผลการทดสอบ PISA ดีด้วย ซึ่งก็เป็นเป้าหมายที่ได้ประกาศเป็นนโยบายด้วยว่า จะเลื่อนอันดับการทดสอบ PISA ให้สูงขึ้น หวังจะให้เกิดการถอดบทเรียนประสบการณ์จากการเลื่อนอันดับ PISA นำไปสู่การปรับปรุงการจัดการศึกษาทั้งระบบให้ดีขึ้น เพราะ PISA วัดในเรื่องที่นักการศึกษาเองก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ก็คือ การอ่านเข้าใจ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่เราจะไม่มุ่งไปสู่การติวเข้มข้นเหมือนการเตรียมเด็กไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนทำเช่นนั้น คือ ใช้วิธีติวเข้มให้กับเด็กที่จะทดสอบ PISA ซึ่งเป็นเด็กจากเมืองเซี่ยงไฮ้ที่มีอันดับการศึกษาอยู่ในอันดับต้นๆ ของจีน รวมทั้งจะไม่ใช้วิธีส่งเฉพาะเด็กเก่งๆ เข้าไปทดสอบ


อย่างไรก็ตาม มีความหวังให้การเลื่อนอันดับทดสอบ PISA เกิดการเรียนรู้ข้อสอบ PISA เพื่อเกิดวิธีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความรู้จากข้อสอบ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของ สสวท. ที่ให้จัดทำแบบทดสอบลักษณะเดียวกับ PISA จากง่ายไปหายาก มีการวิเคราะห์ผลสอบของเด็กว่าทำข้อสอบข้อใดไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร และครูจะต้องสอนอะไรอย่างไร รวมทั้งจะเชื่อมโยงไปยังหลักสูตรว่ามีและสอนสิ่งเหล่านี้อยู่หรือไม่ เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่เด็กของเขาสามารถตอบข้อสอบ PISA ได้ในข้อที่เด็กประเทศอื่นๆ ตอบไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์ข้อสอบ ผลการทดสอบ และบรรจุความรู้ของข้อสอบข้อนั้นในหลักสูตรและวิชาเรียนของญี่ปุ่น ทำให้เด็กญี่ปุ่นเกิดความคุ้นเคยกับข้อสอบและมีความรู้ที่จะสามารถตอบคำถามข้อนั้น


ศธ.ต้องการให้มีการวิเคราะห์ข้อสอบและผลทดสอบ โดยหวังผลเป็นสำคัญเพื่อให้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์เพิ่มขึ้น จึงฝากให้คิดว่าวิธีการและกระบวนการขับเคลื่อนที่จะสามารถให้เกิดการเรียนรู้ทั้งระบบโดยเร็ว รวมพลังทุกภาคส่วนของ ศธ.เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ผู้เรียน ครู ผู้บริหารทั้งระบบทั่วประเทศ เห็นความสำคัญและเข้าร่วมการทดสอบ PISA ซึ่งเชื่อว่าระบบการศึกษาไทยมีบุคลากรและหน่วยงานที่มีความพร้อมในการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลตามเป้าหมายต่อไป


รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.moe.go.th/websm/2013/sep/323.html