หน่วยวิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ทดสอบน้ำมันหอมระเหยจากไพล ดูประสิทธิภาพรักษาโรคข้อเสื่อมในสัตว์ทดลอง หลังผลทดลองกับกระดูกอ่อนหมูในห้องปฏิบัติการออกมาน่าพอใจ มั่นใจงานวิจัยปูทางสู่การพัฒนายาข้อเสื่อมตำรับสมุนไพร ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีผลข้างเคียงสูง
ผศ.ดร.ศิริวรรณ องค์ไชย จากหน่วยวิจัยความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้คิดค้นยาชนิดใหม่จากสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติรักษาโรคข้อเสื่อม โดยดูจากฤทธิ์ด้านเภสัชวิทยาของน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรหลายชนิด จนกระทั่งพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากไพลสามารถช่วยลดการอักเสบของโรคข้อเสื่อม
จากสถิติพบว่า ประชากรไทยมีอุบัติการเป็นโรคข้อเสื่อม 11% และพบมากในผู้สูงอายุ สาเหตุของโรคข้อเสื่อมเกิดจากการสลายตัวของกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รับน้ำหนัก ทำให้กระดูกเสียดสี เกิดอาการปวด บวมและอักเสบ ปัจจุบันการรักษามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น กินยาร่วมกับยาทา ยาฉีด รวมถึงการผ่าตัดและกายภาพบำบัด
อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกเสื่อม ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนและกระดูกติดเชื้อง่าย เป็นต้น
งานวิจัยดังกล่าวเป็นการดำเนินการร่วมกับศูนย์นวัตกรรมทางเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการพัฒนาบัณฑิตและการวิจัยทางเคมี โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยส่วนหนึ่งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) พร้อมกันนี้ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการพิสูจน์ฤทธิ์ของยา สารเคมีและสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ลดการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อน หรือป้องกันการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อน ให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยใช้วิธีการตรวจวัดปริมาณของสารบ่งชี้ที่ได้พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการวิจัย
ในการทดสอบนำกระดูกอ่อนของหมู มาเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ พร้อมกับสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนและสารที่ต้องการทดสอบ (สารสกัดจากไพล) จากนั้นก็วัดปริมาณของสารชีวโมเลกุลที่ปลดปล่อยออกมาในอาหารเลี้ยงเชื้อ วัดปริมาณของสารชีวโมเลกุล ที่ยังคงเหลืออยู่ในกระดูกอ่อน ทำให้ทราบได้ว่าสารที่ทดสอบนั้นมีฤทธิ์ยับยั้งการเสื่อมสลายของกระดูกอ่อนหรือไม่
“จากการศึกษา การออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายเนื้อกระดูกอ่อนของสารสกัดไพลในหลอดทดลอง ในเบื้องต้นพบว่า สารสกัดที่ได้ไม่มีความเป็นพิษ และไม่มีฤทธิ์เฉียบพลัน จึงศึกษาต่อในสัตว์ทดลองเพื่อดูการออกฤทธิ์” นักวิจัย กล่าว
ผลจากการตรวจวัดเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสลายของกระดูกอ่อน พบว่าสารสกัดและสารบริสุทธิ์จากไพล สามารถยับยั้งสารทำลายกระดูกอ่อนได้น่าพอใจ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาสารสำคัญจากไพลเพื่อใช้ทำยารักษาโรคข้อเสื่อมต่อไป เช่น ยาทาช่วยลดการปวดบวมตามข้อในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ยาต้านการเสื่อมของข้อ ที่มีราคาถูกกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ
“การที่จะพัฒนายารักษาโรคข้อเสื่อมจากไพลเพื่อใช้งานจริงนั้น จะต้องผ่านการทดสอบระยะสุดท้ายในอาสาสมัคร เพื่อยืนยันว่ายาดังกล่าวไม่มีพิษต่อร่างกาย เมื่อนำไปใช้ในผู้ป่วยจริงๆ” นักวิจัย กล่าว
แหล่งที่มา/ผู้ส่ง http://www.bangkokbiznews.com |