นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ. )
เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล และงบประมาณ ประจำปี 2564
รวมถึงรายงานความคืบการเปิดเรียน รวมถึงนโยบายต่างๆของกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
.
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการเตรียมการรองรับการประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ จำนวน 20 เขต
โดยมีการมอบหมายภารกิจให้แต่ละเขตว่า เมื่อได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เขตที่เพิ่มขึ้นใหม่ทั้ง 20 เขต ต้องพร้อมที่จะดำเนินงานให้บริการกับประชาชนในแต่ละจังหวัดได้ทันที
ซึ่งจะมีการประชุมหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ.นี้ ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การบริหารงานบุคคล และด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด
.
ต่อมาคือเรื่องของการเปิดภาคเรียนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ได้มีการถอดบทเรียน และพบประเด็นที่ต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจในบางประเด็น กล่าวคือ เมื่อเปิดภาคเรียนไปแล้ว ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครไม่มีปัญหา แต่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
พบว่ามีปัญหาเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นทั่วไป แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ผู้ปกครองส่วนหนึ่งขอบคุณที่เปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.พ. ทั้งผู้ปกครองและนักเรียนมีความสุข อีกส่วนคือผู้ปกครองที่มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 อยากให้บุตรหลานเรียนอยู่ที่บ้านมากกว่า ซึ่งในเรื่องของการเปิด-ปิดภาคเรียนนั้น เราได้ประกาศในภาพรวมที่เป็นภาพกว้างของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าหากที่โรงเรียนมีความพร้อมก็ให้เปิดเรียนได้
แต่ถ้าโรงเรียนเปิดแล้วผู้ปกครองมีความไม่สบายใจที่จะให้บุตรหลานมาโรงเรียน และ ต้องการที่จะเรียนอยู่ที่บ้าน ก็ให้ทางโรงเรียนพิจารณาอนุโลมเป็นเฉพาะรายไป โดยให้นับเวลาการเข้าเรียนของเด็กที่เรียนอยู่บ้านด้วย
.
อีกกรณีหนึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างเช่นที่โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก ที่มีเด็กนักเรียนป่วยเป็นโควิด-19 จำนวน 2 คน จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการติดจากคนที่บ้าน ยังไม่ได้มาโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่มีการระบาดภายในโรงเรียน แต่เมื่อผู้ปกครองทราบข่าวจึงรีบมารับบุตรหลานของตัวเองกลับบ้าน ดังนั้น เพื่อลดกระแสความวิตกกังวลของผู้ปกครอง ทางโรงเรียนจึงได้ทำการปิดเรียนจนถึงวันที่ 5 ก.พ. เพื่อดูสถานการณ์ก่อนว่าจะสามารถเปิดได้เมื่อไหร่อย่างไร
ในกรณีนี้ สพฐ. ให้อำนาจโรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ซึ่งได้มีการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ประเด็นต่อมาคือเรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง หลังจากที่ได้ให้เขตพื้นที่ทำข้อมูลมายัง สพฐ. ขณะนี้ รมว.ศธ. ได้แต่งตั้งคณะผู้แทนเพื่อลงพื้นที่ พบว่ามีบางจังหวัดที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์หรือมีบางประเด็นที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน ว่าโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองมีลักษณะอย่างไร ต้องคัดเลือกอย่างไรจึงจะมีลักษณะที่ตรงกับคุณสมบัติ
ในวันนี้ได้มีการมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงลงไปทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ เขต 1 ของทุกจังหวัด เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเห็นผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายของ รมว.ศธ. อย่างแท้จริง
.
นอกจากนั้นยังได้พูดคุยกันถึงเรื่องการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในขณะนี้มีมติว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางการจัดทำหลักสูตร โดยมี รมว.ศธ. เป็นประธาน แล้วมอบหมายให้ สพฐ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในการจัดทำหลักสูตรฉบับสมบูรณ์ โดยให้ มศว แสวงหาภาคีเครือข่ายการศึกษาที่มีความสามารถในแต่ละด้านมาร่วมมือกัน คาดว่าจะได้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ และทันตามกำหนดเวลาที่ รมว.ศธ. กำหนด คือทันใช้ในปีการศึกษา 2565
.
“อีกเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกันคือเรื่องของการพัฒนาครูทั้งระบบ เพื่อรองรับกับการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง โดยจะดำเนินการพัฒนาครูให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ทั้งในด้าน Reskill และ Upskill ของครูทั้งหมดให้ตรงกับสมรรถนะที่คุรุสภาต้องการ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว