ผลประชุมองค์กรหลัก

ศึกษาธิการ – ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 22/2557 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

  • ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของ ศธ.

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ในกรอบวงเงินจำนวน 502,245.4691 ล้านบาท ประกอบด้วย

– สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) 54,308.3558  ล้านบาท 
– สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 250.8547 ล้านบาท 
– สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 315,257.8076 ล้านบาท 
– สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21,030.
9426
ล้านบาท 
– สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 107,894.8521 ล้านบาท 
– หน่วยงานในกำกับ/องค์การมหาชน 3,502.6563 ล้านบาท ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,815.3299 ล้านบาท สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 315.1879 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 214.3380 ล้านบาท โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ 342.6737 ล้านบาท สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา 40.6230 ล้านบาท และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ 774.5038 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณของ ศธ.ในปี 2558 สูงขึ้นจากงบประมาณปี 2557 เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งมีงบประมาณที่ ศธ.ได้ขอแปรญัตติเห็นชอบในหลักการเพิ่มเติมกว่า 4,000 ล้านบาท ในส่วนของ สพฐ. และอีกจำนวนหนึ่งของ สอศ. ขณะนี้ ศธ.ได้เตรียมการชี้แจงต่อกรรมาธิการในวาระที่ 2 แล้ว

ในส่วนของงบประมาณ ศธ.ได้เร่งรัดให้ดำเนินการงบลงทุนในไตรมาสแรก โดยให้ทุกหน่วยงานวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้ทันกับปฏิทินดำเนินการและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  ซึ่งงบลงทุนมีหลายเรื่องที่ ศธ.ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว เช่น งบก่อสร้างโรงเรียนเก่า/ชำรุดทรุดโทรมของ สพฐ.ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ใน 3 จังหวัด การก่อสร้างอาคารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และอาคารเรียนต่างๆ ของอาชีวศึกษา ในส่วนของเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวจะใช้โครงสร้างเดิมของปี 2557  ทั้งนี้ได้ขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมอาคารเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวแล้ว

สำหรับงบประมาณปี 2557 ที่เหลืออยู่ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทั้งก่อหนี้ผูกพันให้เรียบร้อย กรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ขอให้เสนอหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาภายใน 25 กรกฎาคมนี้ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ และเมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และรายงานสำนักงบประมาณภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

นอกจากนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา การใช้งบประมาณปี 2557-2558 ในกรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 (ว 53) เช่น การเปลี่ยนงบประมาณเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ การจัดซื้อยานพาหนะ รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และรายการที่ขาดความพร้อม และไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ทันในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558

สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีดังนี้

29 กรกฎาคม 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 พร้อมเอกสารประกอบ และนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติ
– 6 สิงหาคม 2557
ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ (วาระที่ 1)
– 7 สิงหาคม – 5 กันยายน 2557
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ (วาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ)
– 9 กันยาย
2557
ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ (วาระที่ 2-3)
– 15 กันยายน 2557
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
– 1 ตุลาคม 2557
พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีผลบังคับใช้

  • รายงานผลตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช.

ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานผลตามข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม และ 18 กรกฎาคม 2557 ที่ได้ให้ ศธ.พิจารณาหาแนวทางการส่งเสริมและยกระดับสถาบันการศึกษาทางด้านวิชาชีพ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการช่างเทคนิคในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยอาจจัดทำเป็นวิทยาลัยตัวอย่าง ที่เน้นความเป็นเลิศในด้านช่างฝีมือ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งจะช่วยลดปัญหากลุ่มวัยรุ่นที่มั่วสุม ทะเลาะวิวาท และยาเสพติด

ทั้งนี้ สอศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบแนวทางดำเนินการใน 2 ส่วน ดังนี้

– การยกระดับสถาบันการศึกษาด้านวิชาชีพ  สอศ.ได้ร่วมมือกับ 4 ประเทศสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน เพื่อจัดทำ MOU ความร่วมมือและจับคู่กับวิทยาลัยต้นแบบ เช่น มหาวิทยาลัยโคเซน ประเทศญี่ปุ่น  สถาบัน ITE ของสิงคโปร์ รวมทั้งได้เดินทางไปเจรจาความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนไว้แล้ว  ซึ่งจะเป็นการเน้นด้านสายอาชีพ  และจะมีการเปิดห้องเรียนตัวอย่าง/ห้องเรียนต้นแบบของแต่ละประเทศในประเทศไทยด้วย โดยจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป

– การก่อเหตุทะเลาะวิวาท สอศ.ได้จัดทำแนวทางการป้องกันและปัญหาเด็กนักเรียนตรีกัน ตามนโยบายของ คสช. ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่ 1) จัดแบ่งพื้นที่เพื่อให้สถานศึกษาที่เกี่ยวข้องได้ดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบของตนเอง 2) ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่เสี่ยง 3) จัดระดับสถานศึกษาหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมาก น้อย เพื่อวางมาตรการป้องกัน แก้ไขตามสภาพความเสี่ยง 4) ให้สถานศึกษารวบรวมรายชื่อนักศึกษากลุ่มเสี่ยง ตลอดจนรุ่นพี่ที่ไม่ได้ศึกษาอยู่แต่เป็นผู้ยุยงปลุกปั่น 5) ให้สถานศึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปเยี่ยมบ้านนักศึกษา/รุ่นพี่ตามรายชื่อ 6) ถ้ายังมีการก่อเหตุอีก ให้สถานศึกษาแจ้งไปยัง กอ.รมน.ของแต่ละจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขต่อไป โดย สอศ.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยัง กอ.รมน.แล้ว

  • ค่านิยมหลัก 12 ประการ : เห็นชอบการจัดทำ “สมุดความดี” ของนักเรียนทุกระดับ

จากการที่ได้ขอให้ทุกหน่วยงานนำค่านิยมหลัก 12 ประการ ไปบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนการสอน หลักสูตร การวัดและประเมินผล และในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ได้แก่ ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์  การมีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส  มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป  และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง นั้น

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดทำสมุดความดีของนักเรียนทุกระดับ ทุกประเภท ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้ง กศน. เพื่อต้องการให้จดบันทึกความดีที่นักเรียนได้กระทำ และขอให้ทุกหน่วยงานจัดระบบของตัวเอง และมีการรับรองจากครูใหญ่และผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย ทั้งนี้ยังได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาใช้ความดีเป็นส่วนหนึ่งในการรับเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนายแพทย์กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ. จะได้นำไปหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยต่อไป

ในส่วนของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้มีสมุดบันทึกความดีประจำตัวลูกเสืออยู่แล้ว จึงต้องการให้ลูกเสือทุกคนได้จดบันทึกความดี และมีการบูรณาการไปยังกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดต่อไปด้วย เพื่อส่งเสริมค่านิยมหลัก 12 ประการ ซึ่งบรรจุอยู่ในคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 8 ประการในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 อยู่แล้ว แต่สำหรับ 4 ประการที่เพิ่มขึ้นจะบูรณาการจัดกิจกรรม โดย สพฐ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ศธ.ได้จัดทำสปอตปฏิรูปการศึกษา ในเรื่องความซื่อสัตย์ ความมีระเบียบวินัย พร้อมทั้งรวบรวมเพลงที่เกี่ยวข้องกับความกตัญญูและรู้คุณค่าของแม่ในรูปแบบของซีดี ส่งไปให้ทุกโรงเรียนได้เปิดในช่วงกิจกรรมวันแม่ เพื่อสานต่อนโยบายของ คสช.เกี่ยวกับค่านิยม 12 ประการด้วย

  • มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ

นายศุภภร วงศ์ปราชญ์ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ” ระหว่างวันที่ 22 27 กรกฎาคม 2557 ณ ท้องสนามหลวง ร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐอื่น ตามนโยบายของ คสช. โดยมีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปเป็นหน่วยประสานงานในการจัดงานพร้อมกับจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1) ด้านการสาธิตและฝึกอาชีพ จากสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และครูภูมิปัญญาชาวบ้านมาถ่ายทอดความรู้  2) ด้านการให้บริการ อาทิ ตัดผม ซอยผม เสริมสวย บริการนวดแผนไทยและแผนโบราณ บริการตรวจสุขภาพ การแสดงผลงานครูภูมิปัญญาชาวบ้าน การให้บริการของศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix It Center การจัดรถโมบายห้องสมุดความรู้ และการจัดนิทรรศการ 5 แผ่นดิน เป็นต้น 3) ด้านการแสดง มีการจัดเวทีการแสดงของ ศธ.โดยเฉพาะ เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักเรียน นักศึกษา ดารา นักร้อง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาให้ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ศธ.ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนลงนามถวายพระพรออนไลน์แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม และวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร วันที่ 28 กรกฎาคม ด้วย ทั้งนี้จะมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 99 รูป ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เวลา 6.30 น. ณ ถนนกลางด้านศาลฎีกา และพิธีเปิดงาน เวลา 18.00 น. ณ เวทีกลางท้องสนามหลวง ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถเข้าชมและเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคได้ในราคายุติธรรมจากส่วนราชการและร้านค้าภายในงานด้วย

  • การจัดงานวันแม่ “เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแห่งแผ่นดิน”

นายศุภภร วงศ์ปราชญ์ รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.มีกำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 12 สิงหาคม 2557 ภายใต้ชื่องาน “เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 12 15 สิงหาคม 2557 โดยให้หน่วยงานในสังกัด ศธ.จัดงานดังกล่าวและใช้ชื่องานเดียวกันทั้งประเทศ โดยพิธีเปิดงานจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งจะมีการจัดริ้วขบวนอัญเชิญเครื่องราชสักการะและถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ในงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา “12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ” ร่วมกับมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช และในเวลา 19.00 น. จะมีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ณ เวทีใหญ่ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ในภาพรวมของ ศธ. มุ่งเน้นการเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการศึกษาของชาติ ประกอบกับเป็นโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะจัดงาน “73 ปี อาชีวะสร้างชาติ” จึงได้รวมเป็นงานเดียวกัน ซึ่งมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงจากนักเรียน นักศึกษา การจัดนิทรรศการให้ความรู้ เพื่อเทิดพระเกียรติ การจัดทำป้ายประกาศพระราชสมัญญา พร้อมพระฉายาลักษณ์ การจัดซุ้มฝึกอาชีพ จุดรับบริจาคโลหิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เป็นต้น

  • การจัดทำภาพยนตร์สารคดีพิเศษ ชุด “ก้าวข้ามเพื่อตามฝัน”

ที่ประชุมรับทราบ ศธ.ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์สารคดีพิเศษ ชุด “ก้าวข้ามเพื่อตามฝัน” ตอน “การสร้าง…ที่กลับมา” ซึ่งเป็นสารคดีที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ จึงขอเชิญชวนติดตามภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวต่อไปด้วย

  • ข้อตกลงความร่วมมือจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาในสถานศึกษา ระหว่าง ศธ. กับสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจหลักพุทธธรรมที่ถูกต้อง ให้ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียนห่างไกลอบายมุข สิ่งเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย โดยจะมีการพิจารณาลงนามความร่วมมือในโอกาสต่อไป

  • รายงานความก้าวหน้า Roadmap ปฏิรูปการศึกษา

ที่ประชุมรับทราบผลการจัดประชุมเวทีสาธารณะ : ปฏิรูปการศึกษา เพื่อปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเห็นชอบที่จะจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปการศึกษาไปยังฝ่ายสังคมจิตวิทยาต่อไป โดยเฉพาะ 2 ประเด็นเร่งด่วนตาม Roadmap คือ ปฏิรูปครู และปฏิรูปการบริหารจัดการ

  • คุณสมบัติของผู้ที่จะมีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นในสังกัด ศธ.

นางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัด ศธ.  กล่าวว่า ในการสรรหาตำแหน่งนักบริหารระดับต้นของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งว่าง 4 ตำแหน่ง คือ รองเลขาธิการ กศน., รองเลขาธิการ กช., รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. และผู้ช่วยปลัด ศธ.นั้น ได้ดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ผ่านความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการในการสรรหาจากที่ประชุม อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณา 5 ท่าน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจาก อ.ก.พ.ด้านกฎหมาย, ผู้แทนจาก ก.พ., ข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้ง, หัวหน้าส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่าง เป็นคณะกรรมการ โดยพิจารณาจาก 3 ส่วน ส่วนแรกคือลักษณะงานในตำแหน่งว่าง ส่วนที่สองคือมองคนเป็นหลักที่จะต้องได้คนเก่งคนดีเข้ามา และส่วนที่สามคือต้องการผู้ที่เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานนั้นๆ ให้มากที่สุด

ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การสรรหาดังกล่าว เน้นให้เอื้อประโยชน์และส่งผลต่อองค์กร โดยพิจารณาถึงบุคคลที่จะมาสานต่องานได้อย่างมีประสิทธิผล และทำงานได้อย่างต่อเนื่องทันเวลา และแม้ว่าได้ปิดการรับสมัครสรรหาไปแล้ว แต่ที่ประชุมก็ได้นำข้อเท็จจริงการรับสมัครครั้งนี้มาดูด้วย ซึ่งก็พบว่ามีผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมัครเป็นจำนวนมากถึง 164 คน อย่างไรก็ตามที่ประชุมองค์กรหลักก็เห็นตรงกันว่า ในการสรรหาผู้บริหารระดับต้น จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงาน การพัฒนาการศึกษาในตำแหน่งว่างนั้นๆ มากที่สุด ดังนั้นในอนาคตหากจะเปิดกว้างรับบุคคลต่างสังกัด ก็จะเปิดกว้างเหมือนกันหมด โดยในปี 2558 เห็นตรงกันว่าขอให้ทำเรื่องหารือถึงแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ไปยัง ก.พ.ว่าจะเปิดโอกาสให้ ศธ.ทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้ใช้ ว ของ ก.พ.เดิมอยู่

  • การแต่งตั้งผู้อำนวยการคุรุสภาจังหวัด

จากการที่มีข่าวร้องเรียนการทุจริตซื้อขายตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคุรุสภาจังหวัด 78 ตำแหน่งนั้น ปลัด ศธ. กล่าวว่า ในฐานะปฏิบัติราชการแทน รมว.ศธ. จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังประธานกรรมการคุรุสภา (ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์) แล้วเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เพราะคุรุสภาเป็นหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานวิชาชีพ นอกจากนี้ได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ให้คำตอบแก่สังคมได้

กุณฑิกา พัชรชานนท์
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
21
/7/2557