มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วย่อมมีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน และในความแตกต่างของมนุษย์นั้นเป็นความแตกต่างที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย มนุษย์สามารถกำหนดความคิดของตนเอง แต่ไม่สามารถกำหนดความคิดของผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นการให้แนวทางและวิธีการย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เป็นการจุดประกายเพื่อให้ได้คิดต่อในรูปแบบของตนเองอย่างอิสระ ซึ่งจะเพิ่มพูนแนวความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายได้ มนุษย์สามารถใช้จินตนาการและความคิดของตนเองผลิตงานศิลปะได้ด้วยความกล้าหาญ มีความมั่นใจที่จะสร้างความสวยงามให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยตัวเองอย่างไม่รู้จบ
อาชีพครูเป็นอาชีพหนึ่งที่มีโอกาสได้สัมผัสกับงานศิลปะอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะครูประถม ถึงแม้ว่าท่านนั้นจะสอนวิชาที่ไม่ใช่ศิลปะก็ตาม การนำเสนอศิลปะมาผสมผสานกับการสอนในวิชาต่างๆ ย่อมส่งผลดีต่อตัวผู้สอนและผู้เรียน ครูเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการผลิตสื่อการสอนสวยๆ มีความน่ารักสมกับวัยของผู้เรียน ตัวผู้เรียนเองก็มีความรู้สึกตื่นเต้นสนุกไปกับสิ่งที่ครูนำเสนอ ทั้งๆ ที่วิชาที่สอนอาจจะเป็นวิชาที่น่าเบื่อไม่สนุก ครูสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อวิชาต่างๆ โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อดึงดูดความสนใจ เพราะฉะนั้นครูระดับประถมศึกษาจึงต้องเป็นครูที่มีความสามารถหลากหลาย ในระดับประถมครูจะต้องมีความอดทนสอนให้เด็กรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ เป็นผู้ที่อ่านออกเขียนได้ มีลักษณะนิสัยที่ดีงาม อยากรู้ อยากเรียน มีทัศนคติที่ดีตั้งแต่เบื้องต้น ครูที่รู้จักสร้างสรรค์หาเทคนิควิธีต่างๆ มากระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจ ที่จะเรียนรู้ไม่ว่าด้วยเทคนิค เนื้อหาความรู้ การสร้างสรรค์บรรยากาศในห้องเรียน หรือการสร้างสรรค์สื่อในการเรียน การจัดป้ายนิเทศ ตลอดจนรู้จักที่จะปรับปรุงตนเองอยู่เสมอนี่แหละคือ “ครูมืออาชีพ”
- การจัดป้ายนิเทศ ป้ายนิเทศที่มีคุณภาพจัดเป็นแหล่งเรียนรู้อันมีคุณค่าของห้องเรียน ครูสามารถใช้ป้ายนิเทศเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้นักเรียนสนใจใฝ่รู้ในเนื้อหาที่นำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดป้ายนิเทศมีสาระที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้
- องค์ประกอบศิลป์ หมายถึงการนำเอาจุด เส้น รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว น้ำหนักอ่อน-แก่ แสงเงาและสีมาจัดวางสร้างรูปแบบต่างๆ อย่างลงตัวในเงื่อนไขต่างๆ ว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกลมกลืน องค์ประกอบศิลป์ขั้นพื้นฐาน มีดังนี้
จุด เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้เกิดเส้น รูปร่าง หรือภาพได้ การนำจุดมาเรียงกันเป็นแถวจะเกิดเส้น การนำจุดจำนวนมากมาจัดในตำแหน่งที่เป็นรูปร่าง หรือรูปทรงจะเกิดเป็นภาพขึ้น
- เส้น เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิด รูปร่าง รูปทรง และพื้นผิวต่างๆ นอกจากนี้เส้นแต่ละชนิดยังทำให้ผู้ดูเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น
- เส้นดิ่ง เป็นเส้นที่มีทิศทางในแนวตั้งฉาก ให้ความรู้สึกที่มั่นคง แข็งแรง สูง สง่า
- เส้นระนาบ มีทิศทางในแนวนอน ให้ความรู้สึกกว้าง สงบ เยือกเย็น
- เส้นเฉียง มีทิศทางในแนวเฉียงจึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ขาดความสมดุลเหมือนกำลังจะล้ม
- เส้นหยักแหลม เป็นเส้นที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลง ทำให้รู้สึกตื่นเต้น รุนแรง แหลมคม มีพลังการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
- เส้นโค้ง เป็นเส้นที่มีความงดงาม ดูแล้วให้ความรู้สึกอ่อนโยน ละมุนละไม เศร้าสร้อย
- เส้นหยักโค้ง ให้ความรู้สึกที่นิ่มนวล เคลื่อนไหว มีลีลา และจังหวะที่น่าชม
- เส้นขยุกขยิก เป็นเส้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกสับสน วุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบ
- เส้นดิ่ง เป็นเส้นที่มีทิศทางในแนวตั้งฉาก ให้ความรู้สึกที่มั่นคง แข็งแรง สูง สง่า
- รูปร่าง รูปทรง รูปร่างรูปทรงมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก แต่จะมีมิติที่แตกต่างกัน ดังนี้
- รูปร่าง มี 2 มิติ คือ มีความกว้างกับความสูง
- รูปทรง มี 2 มิติ คือ มีความกว้าง ความสูง และความลึก
- รูปร่างและรูปทรงมีทั้งลักษณะเหมือนจริง รูปดัดแปลง และรูปอิสระ
- พื้นผิว หมายถึงลักษณะภายนอกของสิ่งต่างๆ ทั้งที่มีในธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถรับรู้ได้ด้วยตา หรือสัมผัสได้ เช่น ผิวขรุขระ ผิวหยาบ ผิวเรียบมัน การนำพื้นผิมาใช้ในการสร้างขึ้นงานจะทำให้ผู้ดูเกิดความสนใจยิ่งขึ้น
- สี เป็นองค์ประกอบความสำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจ สีมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ดูอย่างยิ่ง การใช้สีในการจัดป้ายนิเทศควรคำนึงถึงสาระสำคัญ ดังนี้
- สกุลสีเย็น คือ สีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สบายตา สบายใจ ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีม่วงน้ำเงิน สีน้ำเงิน
- สกุลสีร้อน คือ สีที่ให้ความรู้สึกร้อนแรง รุนแรง กระตุ้นให้ผู้ดูเกิดความสนใจอยากรู้ ได้แก่ สีแดง สีม่วงแดง สีส้มแดง สีส้ม สีส้มเหลือง
- สีม่วงและสีเหลืองนอกจากจะเป็นสีที่ตรงกันข้ามกันในทฤษฎีสีแล้วยังเป็นสีที่กลมกลืนกับสีทั้งสกุลสีร้อน และสกุลสีเย็น
- สีที่มีน้ำหนักสีอ่อนทุกสี จะตัดกับสีเข้มหรือสีดำ
- สีเข้มเมื่ออยู่บนพื้นสีอ่อนจะดูเข้มมากกว่าอยู่บนพื้นสีเข้ม
- สีอ่อนเมื่ออยู่บนพื้นสีเข้มจะดูอ่อนกว่ามากกว่าบนพื้นสีอ่อน
- สีอ่อนเมื่ออยู่บนพื้นสีอ่อน ถ้าตัดด้วยสีดำหรือสีคู่ตรงกันข้ามจะดูรุนแรงมากขึ้น
- การใช้สีตัดกัน หรือ สีคู่ตรงข้ามกันจะทำให้ภาพสะดุดตาขึ้น แล้วต้องใช้สีหนึ่งให้มีปริมาณมากกว่าสีหนึ่งประมาณ 80 : 20
- การใช้สีกลมกลืนจะทำให้ภาพดูกลมกลืนกัน แต่ในการจัดป้ายนิเทศ อาจทำให้ไม่ดึงดูดความสนใจ ควรใช้สีตัดกันร่วมด้วยเล็กน้อย
- การเลือกใช้สีกลมกลืนกัน สีตัดกันหรือสีสกุลร้อน สกุลเย็น ควรพิจารณาเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการจัด เช่น ถ้าต้องการให้ผู้ดูเกิดความรูสึกต่อต้าน ควรใช้สีประเภทสีร้อน
- สกุลสีเย็น คือ สีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สบายตา สบายใจ ได้แก่ สีเหลือง สีเขียว สีม่วงน้ำเงิน สีน้ำเงิน
นอกจากต้องเข้าใจเรื่ององค์ประกอบศิลป์แล้ว ในการจัดป้ายนิเทศยังต้องศึกษาหลักการจัดภาพเพื่อจะได้มีแนวทางในการวางตำแหน่งของภาพ การวางตัวอักษร และส่วนประกอบอื่นๆ ที่นำมาตกแต่งเพื่อให้ป้ายนิเทศน่าสนใจ หลักการจัดภาพเบื้องต้น มีดังนี้
- ประธานของภาพและภาพส่วนรองประธานของภาพจะเป็นจุดเด่นของเรื่องที่จัด และครอบคลุมลักษณะส่วนอื่นขององค์ประกอบทั้งหมด แต่ส่วนประกอบอื่นๆ ก็มีความสำคัญเหมือนกันถึงแม้จะดูเป็นรองแต่ก็ทำให้ภาพเกิดความสมบูรณ์ รวมกันเป็นเอกภาพ
- เอกภาพ หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกแยกออกจากกันเป็นการรวมตัวไม่กระจายเป็นส่วนๆ ไม่แตกแยกออกจากกันเป็นการรวมตัวไม่กระจายเป็นส่วนๆ การสร้างองค์ประกอบของภาพให้มีลักษณะเอกภาพ มีการนำสิ่งต่างๆ มาเชื่อมโยงหรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม
- ความสมดุล เป็นส่วนของน้ำหนัก การจัดป้ายนิเทศต้องอาศัยการจัดให้มีความสมดุลต้องไม่ให้องค์ประกอบของภาพหนักไปด้านให้ด้านหนึ่ง ความสมดุล แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
- ความสมดุลที่ลักษณะทั้งด้านซ้ายและขวาเหมือนกัน มีน้ำหนักของภาพเท่ากัน ความรู้สึกในการมองเห็นอาจดูเรียบง่ายไม่ดึงดูดความสนใจ
- ความสมดุลที่มีด้านซ้ายและขวาไม่เหมือนกัน แต่จัดให้ดูแล้วมีน้ำหนักสองด้านเท่ากัน เป็นการจัดภาพด้วยการจัดน้ำหนัก ขนาด รูปร่าง และรูปทรง ให้มีความแตกต่างกัน แต่จัดให้มีน้ำหนักเฉลี่ยแต่ละข้างมีน้ำหนักรวมๆ เท่ากัน
- การรวมเข้าสู่เกณฑ์หรือศูนย์กลาง ความสำคัญอยู่ที่ประธานของภาพซึ่งจัดอยู่ส่วนกลาง และส่วนประกอบอื่นๆ จะรวมกันเข้าสู่ประธาน
- การแผ่พุ่งออกไปรอบตัว เป็นการจัดที่มีประธานเป็นศูนย์กลาง และไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ กระจายออกจากตัวประธานโดยรอบเหมือนรัศมีของดวงอาทิตย์
- ความกลมกลืน หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง เข้ากันได้ไม่ขัดหูขัดตา เราสามารถสร้างความกลมกลืนได้ด้วยเส้น รูปร่าง รูปทรง ขนาด สัดส่วน ความเข้ม ความอ่อน พื้นผิว หรือการใช้สี
- ความขัดแย้ง หมายถึง ความขัดแย้งกันในภาพที่เห็น การไม่ประสานสัมพันธ์กัน เป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน เช่น ความคิด ความสว่าง ความขัดแย้ง อาจขัดกันด้วยเส้น รูปร่าง ขนาด พื้นผิว หรือ สี แต่ความขัดแย้งยังมีประโยชน์ต่อการจัดภาพ ถ้าเราใช้ในสัดส่วนที่พอเหมาะ
- จังหวะ ในการจัดภาพถือว่ามีความสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสนใจ เพราะจังหวะทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหว มีลีลาที่ดูต่อเนื่องกัน ผู้ชมจะสนใจดูจนจบ
- ช่องว่าง ช่องว่างหรือเรียกอีกอย่างว่าช่องไฟ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการจัดภาพ การมีช่องว่างจะช่วยให้ภาพดูแล้วไม่แน่น มีการเคลื่อนไหวและทำให้องค์ประกอบของภาพดูมีชีวิตชีวา น่าดู
ครูเป็นบุคคลที่มีเวลาว่างน้อยมาก ในสายตาของคนอาชีพอื่นมักจะมองว่าอยู่กับเด็กๆ สอนหนังสือไปวันๆ ปิดเทอมก็ได้พักผ่อนเป็นเวลานาน แต่จริงๆ แล้วเมื่อว่างเว้นจากการสอนก็ต้องตรวจงาน ต้องเตรียมการสอน ต้องเตรียมห้องเรียนเพื่อต้อนรับนักเรียนตอนเปิดเทอม หรือแม้กระทั่งในช่วงเปิดเทอมในแต่ละวันก็ต้องเตรียมห้องเรียนให้พร้อมเสมอสำหรับลูกศิษย์ ครูต้องทำกิจกรรมอื่นๆ ที่โรงเรียนมอบหมายให้ ซึ่งมักจะมีอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นแล้วว่าครูมีเวลามากน้อยเพียงใด
เมื่อเวลามีเหลืออยู่น้อย เราจะมีวิธีการอย่างไรให้สิ่งที่เราทำใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลคุ้มค่ามากที่สุด ถ้าครูท่านอื่นๆ ที่ไม่เก่งงานด้านศิลปะลองมาฝึกตามเทคนิคต่อไปนี้ ผู้เขียนแน่ใจว่า หลายคนคงไม่ต้องหนักใจ และไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากใครอีกต่อไป สิ่งที่กล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเทคนิคที่ครูสามารถจะไปดัดแปลงใช้กับกิจกรรมฝึกนักเรียนในระดับประถมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนเกิดการพัฒนาการเรียนรู้ทางศิลปะและความคิดรวมยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และช่วยประหยัดเวลาในการทำงานอีกด้วย
เทคนิคที่ 1 เทคนิคการพับครึ่งแล้วตัด เป็นเทคนิคการพับครึ่งกระดาษแล้วตัด จะได้ภาพ 1 ภาพที่สมมาตรกัน คือ มีรูปร่างเหมือนและเท่ากันทั้งซ้ายและขวา ดังตัวอย่าง
เทคนิคที่ 4 เทคนิคการพับแล้วตัดฉลุ ใช้วิธีการพับเช่นเดียวกับวิธีที่ 3 คือ ตัดกระดาษเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ต่อจากนั้นพับกลางในลักษณะทแยงมุม จากนั้นพับทบครึ่งครั้งที่ 1 พับทบครึ่งครั้งที่ 2 จากนั้นเขียนลายตามขอบตามมุมแล้วตัด เมื่อคลี่ออกจะได้ลายฉลุที่สวยงาม
เทคนิคที่ 5 เทคนิคการพับครึ่งแล้วตัดแบบมีมิติ เป็นเทคนิคที่มีการพับครึ่งกระดาษต่อจากนั้นร่างภาพที่ต้องการแล้วตัด จะได้ภาพ 1 ภาพที่สมมาตรกัน คือ มีรูปร่างที่เหมือนกันและเท่ากันทั้งซ้ายและขวา ต่อจากนั้นใช้วัตถุปลายแหลมแต่ไม่คมกรีดลงไปบนชิ้นงานบริเวณที่เราต้องการพับ เมื่อพับตามรอยกรีดจะได้ชิ้นงานที่มิติเพิ่มขึ้น วิธีนี้สามารดัดแปลงไปใช้ในการทำหัวละคร สวนสัตย์ โมบาย และของเล่นของใช้มากมาย ดังตัวอย่าง
- กำหนดวัตถุประสงค์ของป้ายนิเทศ คือ ต้องการสื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจความหมายของคำว่า “ครู” ความสำคัญของ “วันครู” และวัฒนธรรมอันดีงามและความเชื่อของสังคมไทยที่ว่า “ศิษย์ต้องมีครู” ศิษย์ต้องกราบไหว้ครูเพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญงอกงามของชีวิต
- กำหนดหัวข้อ (topic) ของป้ายนิเทศ ในที่นี้มีชื่อว่า “สำนึกในพระคุณครู” เพื่อให้นักเรียนระลึกถึงพระคุณของครูที่ได้สั่งสอนอบรมมาด้วยความเหนื่อยยาก
- จัดหาภาพประกอบ ที่สามารถสื่อความหมายตามที่ต้องการในข้อที่ 2 ดังนี้
- ภาพโต๊ะหมู่บูชาซึ่งประกอบด้วยหัวโขนซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นครู “หัวครู” ซึ่งต้องทำพิธีกราบไหว้เพื่อขอมอบเป็นศิษย์ ซึ่งเรียกว่า “พิธีครอบครู”
- พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังพระราชทานการอรรถาธิบายวิธีตรวจวิเคราะห์สภาพดินบริเวณหน้าอาคารเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า และโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แก่นักเรียนวังไกลกังวล หัวหิน
- พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ได้รับทุนการศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเข้าเฝ้าก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ
- ภาพบรรยายพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์
- ภาพพวงมาลัย ดอกไม้ เป็นเครื่องสักการะที่ศิษย์ใช้บูชาครู
- จัดทำตัวอักษร อาจเขียนด้วยมือหรือคอมพิวเตอร์ช่วย เลือกใช้ตัวอักษรแบบไทยที่มีความอ่อนช้อยแต่สง่างาม
- จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ได้แก่ ฟิวเจอร์บอร์ด กระดาษโปสเตอร์แข็ง กระดาษโปสเตอร์อ่อน ริบบินสีทอง พลาสติกใส กระดาษวาดเขียนสำหรับนำมาพับตัด หรือกรีดเพื่อทำวัสดุตกแต่งขอบและมุมป้ายนิเทศ
- จัดวาง (lay out) ป้ายนิเทศ ให้หัวข้อป้ายนิเทศอยู่ข้างบนสุด จัดวางรูปภาพเรียงลำดับสูงต่ำตามความสำคัญ โดยให้มีช่องว่างระหว่างภาพเพื่อจะได้สามารถนำวัสดุตกแต่งมาประกอบให้ป้ายนิเทศมีความสวยงาม โดดเด่นยิ่งขึ้น
- หุ้มป้ายนิเทศด้วยพลาสติกใสเพื่อความคงทนและทำความสะอาดง่าย
ขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมา แม้ว่าจะเป็นสิ่งเก่าๆ ที่เราเคยพบเห็นแต่การฝึกทำให้เป็นขั้นตอนก็จะช่วยให้เรามีทักษะในการทำงาน การจัดป้ายนิเทศนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินในขณะทำงาน ความภาคภูมิใจในการสร้างงานด้วนตัวเราเองแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนด้วยงานศิลปะอีกด้วย โดยเฉพาะห้องเรียนสำหรับเด็กเล็ก สีสันที่สดใสจะช่วยทำให้ห้องเรียนดูน่าสนุกมีชีวิตชีวา จิตใจเกิดความเบิกบาน ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความสุข
ที่มาข้อมูล : ฐากูร เหมยะรัตน์ วารสารวิชาการ ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2549