ปี59″กยศ.”ฟ้องแล้ว เบี้ยวหนี้ 1.7 แสนราย ยันเกรด 2.00 จำเป็น
กยศ.เผยปี 59 ได้ดำเนินการฟ้องผู้ไม่ชำระหนี้แล้ว 170,000 ราย ส่วนมาตรการจับมือนายจ้างหักเงินเดือนลูกหนี้ได้ผล ยอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย้ำการยกเลิกกำหนดเกรด 2.00 นักเรียนที่ได้สิทธิ์กู้ต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ละเอียด
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ตัวเลขผู้กู้ กยศ.ในปีการศึกษา 2559 ที่ได้รับสิทธิ์กู้ยืมและอยู่ระหว่างการโอนเงินทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ ข้อมูลล่าสุดมีจำนวน 458,389 ราย แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 70,301 ราย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 52,159 ราย ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)/ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 55,800 ราย วงเงินประมาณ 18,605 ล้านบาท โดยขณะนี้กระบวนการกู้ยืมยังไม่ถือว่าสิ้นสุดและยังมีผู้กู้บางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยกู้ สำหรับความคืบหน้าในเรื่องการดำเนินคดีกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระเงินกู้ กยศ.นั้น ภาพรวมผู้กู้ที่ค้างชำระสะสมตั้งแต่ปี 2547 และถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2559 กยศ.ได้ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 170,000 ราย กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) 85,000 ราย อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี และส่งเรื่องให้ทนายความดำเนินการสืบทรัพย์เพื่อยึดทรัพย์แล้วประมาณ 50,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท
น.ส.ฑิตติมากล่าวต่อว่า ส่วนตัวเลขการชำระเงิน ปีนี้มียอดล่าสุดอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าเป็นเพราะมาตรการที่ กยศ. ออกมากระตุ้นจูงใจให้ผู้กู้ที่ค้างชำระมาชำระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทำความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง สถานประกอบการในการหักเงินเดือนผู้กู้เพื่อชำระหนี้ การลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ที่มาปิดบัญชี เป็นต้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ซึ่งกยศ.จะพยายามหามาตรการใหม่ๆ ออกมา เพราะไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้อง ส่วนกรณีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน กยศ. ที่กำหนดว่าผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 นั้น กยศ.ต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมในปีนี้ก่อนว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวถือเป็นมติของคณะกรรมการ กยศ.ที่อยากให้เด็กตั้งใจเรียน ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะหากเด็กเรียนได้เกรดต่ำกว่า 2.00 ก็จะไม่จบการศึกษา ดังนั้นจึงมีมาตรการดังกล่าวออกมาเพื่อเป็นตัวกระตุ้น
ที่มา: www.thaipost.net