ปลดล็อก‘แม่วัยทีน’มีที่ยืนในสังคม : ประภาศรี โอสถานนท์ สำนักข่าวเนชั่นรายงาน
“ท้องในวัยเรียน ท้องในวัยรุ่น” ถือว่าเป็นปัญหาสังคมไทยที่มีต่อเนื่องมานาน เพราะการคบเพื่อนต่างเพศเป็นเรื่องธรรมดาของวัยรุ่นทั่วไป เด็กบางคนมีอิสระในการใช้ชีวิต ทำอะไรตามใจตัวเอง สภาพพ่อไปทางแม่ไปทางหรือพ่อแม่มุ่งแต่ทำมาหากิน ไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้ไปคบเพื่อนต่างเพศ จนขาดความยับยั้งชั่งใจ ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ทั้งแอพพลิเคชั่นไลน์ หรือการใช้เฟซบุ๊กติดต่อ ทำให้การสื่อสารระหว่างเพื่อนต่างเพศเป็นเรื่องง่าย
จากการสำรวจพบว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นและปัญหาการตั้งท้องในวัยที่ไม่พร้อมเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กนักเรียนในประเทศไทย โดยมีรายงานว่าการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกทั้งของเพศหญิงและเพศชาย เริ่มเมื่ออายุเฉลี่ยประมาณ 13 ปี มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากกว่า 1 แสนราย ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง โดยวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเพิ่มจาก 4 คนต่อวัน ในปี 2543 เป็น 9 คนต่อวัน ในปี 2556 และวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจาก 240 คนต่อวัน เป็น 334 คนต่อวัน และยังพบการตั้งครรภ์ในเด็กวัยแค่ 10 ปี อีกด้วย
ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน เมื่อผิดพลาดจน “ท้อง” แน่นอนว่า เด็กคงไม่สามารถอยู่ในโรงเรียนเพราะเกิดความอับอายขายหน้าถูกเพื่อนล้อเลียนเหยียดหยาม ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หมดอนาคต บางคนตัดสินใจไป “ทำแท้ง” ที่คลินิกเถื่อน ซึ่งแม่วัยใสบางคนโชคดีสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ บางคนโชคร้ายเสียชีวิตหรือติดโรคในระหว่างการทำแท้ง บางคนก็ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่บางคนครอบครัวพ่อแม่พี่น้องรับไม่ได้กดดันทำให้ต้อง “ฆ่าตัวตาย” ที่ผ่านมาหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่อาจแก้ไขได้สำเร็จ เพราะปัญหามีความซับซ้อน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติผ่านกฎหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต้อนรับ “วันวาเลนไทน์” ที่จะมาถึงเร็วๆ นี้ โดยช่วงนี้เป็นช่วงเสี่ยงที่จะชักนำให้วัยรุ่นไปมีเพศสัมพันธ์หรือ “เสียตัว” ได้ง่ายๆ โดยอาศัยเทศกาล “วาเลนไทน์” ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม หรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ตามมา
กฎหมายฉบับนี้ “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์” สมาชิก สนช. พร้อมสมาชิกได้เสนอเพื่อต้องการให้มีกฎหมายท้องในวัยรุ่นเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยสร้างกลไกในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของรัฐ เอกชน และประชาสังคม
เนื้อหาหลักๆ ของกฎหมายฉบับนี้เน้นให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่อง “เพศวิถีศึกษา” โดยต้องจัดให้สอนเพศศึกษาและการให้คำปรึกษาเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งท้องในวัยรุ่น ให้มีระบบดูแลช่วยเหลือ และคุ้มครองนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการป้องกันและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จัดหาครอบครัวทดแทนในกรณีที่วัยรุ่นไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งมีระบบส่งต่อให้ได้รับการบริการอนามัยเจริญพันธุ์และสวัสดิการอย่างเหมาะสม ทั้งนี้หากใครฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวก็มีทั้งโทษจำและโทษปรับ โดยจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ
หลังจากกฎหมายนี้ ผ่าน สนช.ไปแล้ว ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน
“นพ.เจตน์” ผู้เสนอกฎหมาย บอกว่า กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเด็กและเยาวชนเพราะจะให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการตั้งครรภ์ซ้ำอีก และเด็กก็จะไม่เสียอนาคต สามารถศึกษาต่อจนจบได้ เป็นการแก้ปัญหาสังคมได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญกำหนดให้มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ พร้อมทั้งให้อำนาจกระทรวงออกกฎหมายระเบียบในการปฏิบัติ และให้มีคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ จำนวน 17 คน เป็นตัวแทนจากข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนของสภาเด็กและเยาวชนด้วย
กฎหมายฉบับนี้จึงถือเป็นกฎหมายสำคัญด้านสังคมอีกฉบับหนึ่งที่คลอดออกได้ในสมัยของ สนช. เพราะหลายปีมีความพยายามที่จะออกกฎหมายแต่ก็ไม่สำเร็จ เดิมกฎหมายนี้ใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งก็มีเนื้อหาหลักคือการแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น
อย่างไรก็ตามแม้การออกกฎหมายนี้จะรองรับ “แม่วัยโจ๋” สามารถอยู่ในสังคมได้ และดูแลเด็กในครรภ์ ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี และทำให้ลดสถิติการตั้งท้องได้ในวัยรุ่นได้ก็ตาม แต่ก็ต้องสอดคล้องกับการ “ป้องกัน” เพื่อไม่ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จนนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ก็ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาตั้งแต่แต่ต้น ดังสุภาษิตของไทยที่ว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”
การบังคับใช้กฎหมายในสถานศึกษาจึงมีความสำคัญยิ่งยวด ประกอบกับบุคลากรด้านเพศศึกษาที่มีความรู้และเข้าใจสภาพจิตใจของวัยรุ่น จะเป็นส่วนส่งเสริมให้การป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาท้องในวัยเรียนไม่สามารถแก้ได้ด้วยยุทธศาสตร์หรือกฎหมายฉบับใดแต่ต้องลงมือทำในทุกๆ ฝ่าย ทั้งโรงเรียน ด้วยความร่วมมือของครูทุกคนที่เข้าใจเด็ก รวมไปถึงครอบครัวที่ต้องเข้าใจและดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาในวัยรุ่น
1.กำหนดให้วัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 10-19 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิ์รับข้อมูลและการบริการตามสิทธิ์อนามัยการเจริญพันธุ์
2.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่อง “เพศวิถีศึกษา” อย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนให้สามารถสอนเพศศึกษาและให้การปรึกษาเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งจัดให้มีระบบการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมต่อเนื่อง ตลอดจนจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์และการจัดสวัสดิการสังคม
3.สถานบริการต้องให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ จัดให้มีบริการให้การปรึกษาและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งจัดให้มีระบบการส่งต่อให้ได้การจัดสวัสดิการสังคม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้มีการจัดสวัสดิการสังคมเกี่ยวกับการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
4.กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
5.ให้มีคณะกรรมการระดับชาติ เรียกว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ และมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเด็กและเยาวชน รวมทั้งหมด 17 คน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบายแนวปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
บทความที่น่าสนใจ