ประชุม บอร์ด กช.

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557


รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดมาตรฐานและวางแผนพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเอกชน ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเสนอกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษาเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาการศึกษาเอกชนให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะหากการศึกษาเอกชนจัดได้ดี มีคุณภาพ ก็จะสามารถช่วยลดภาระของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก


การประชุมครั้งนี้ ได้เห็นชอบ 3 หลักเกณฑ์ฯ ในการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชน ดังนี้




  • เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ


ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  ซึ่งฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556-2557 โครงการจัดซื้อแท็บเล็ตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ


หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนที่เปิดสอนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น หรือทั้งสองระดับที่มีระบบประกันคุณภาพภายใน แต่ขาดแคลนครุภัณฑ์และอุปกรณ์ ได้จัดซื้อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน โดย สช.จะได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางของครุภัณฑ์/อุปกรณ์ เพื่อให้รงเรียนต่างๆ สามารถยื่นขอรับเงินอุดหนุนต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือ สช. จังหวัดได้


การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในครั้งนี้ ไม่ได้จัดหาเพื่อแจกแก่นักเรียน แต่ใช้เป็นส่วนกลางของโรงเรียน จึงควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่ากับงบประมาณ รวมทั้งมีความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่ง สพป./สช.จังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องดำเนินการตรวจติดตามและประเมินผลการจัดซื้อของโรงเรียน




  • เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การให้เงินอุดหนุนโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนเอกชน


ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการให้เงินอุดหนุนโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนเอกชน  โดยมีสาระสำคัญคือ โรงเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนจะต้องเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนไม่เกินระดับประถมศึกษาและมีนักเรียนไม่เกิน 120 คน และเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์จัดการศึกษาเพื่อผู้ยากไร้โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา เช่น โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนการกุศลของวัด โรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือการศึกษาสงเคราะห์ ฯลฯ




  • เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การขอรับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ


ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ  ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารเรียน อาคารประกอบ หรือสถานที่ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการศึกษา โดยโรงเรียนที่จะได้รับการอุดหนุนคือ เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจากทางราชการ และอาคารเรียน หรืออาคารประกอบ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอน รวมทั้งอุปกรณ์และครุภัณฑ์ได้รับความเสียหาย จากเหตุแผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย


ทั้ง 3 หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขว่าโรงเรียนจะต้องการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงาน หากโรงเรียนใดมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนผิดพลาด หรือโดยไม่มีสิทธิ หรือทำการทุจริต ในการขอรับเงินอุดหนุนทั้ง 3 หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องถูกเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และถูกดำเนินคดีอาญาและคดีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดแก่ผู้กระทำความผิดด้วย





นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
14/10/2557