ศึกษาธิการ –
จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เตรียมการที่จะปฏิรูปการอาชีวศึกษา เพื่อให้ตอบโจทย์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนและทิศทางการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมา สอศ.ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล งานวิจัย ข้อคิดเห็นจากสถานประกอบการและจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ระดมความคิดเห็นจากสถานศึกษาอาชีวะทั้งรัฐและเอกชน สถานประกอบการ ผู้ปกครอง นักศึกษา ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการวิเคราะห์และพัฒนาข้อเสนอโดยคณะที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน เพื่อจัดทำเป็นรายละเอียดร่างแนวทางการปฏิรูปการอาชีวศึกษา จึงได้เสนอร่างดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณา ตามที่คณะกรรมการอาชีวศึกษาให้ความเห็นชอบแล้ว
ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการปฏิรูปการอาชีวศึกษา โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
-
กรอบแนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษา : คุณภาพผู้สำเร็จอาชีวศึกษา เป็นพลังในการสร้างชาติและแข่งขันในเวทีประชาคมอาเซียนและโลก
-
แนวคิด : การอาชีวศึกษาเพื่อสัมมาชีพและคุณภาพชีวิตคนไทยตลอดช่วงชีวิต มีระบบการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศ โดยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับสถานประกอบการ
-
กลุ่มเป้าหมาย : ตอบโจทย์จากกลุ่มผู้เรียนในระบบการอาชีวศึกษา 9 ล้านคน เป็นคนไทย 70 ล้านคน ได้แก่ เยาวชนในและนอกระบบการศึกษา แรงงานในภาคการผลิตและบริการ ผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้มีความต้องการพิเศษ ภาคประชาสังคม/ชุมชน และแรงงานข้ามชาติ
-
แนวทางการปฏิรูปอาชีวศึกษา : 3 ด้าน คือ
1) ปฏิรูปการผลิตและพัฒนากำลังคน
– ปรับระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนโดยมุ่งสร้างคุณภาพและมาตรฐานผู้สำเร็จอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ และทิศทางการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
– สร้างการมีส่วนร่วมในการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน จากความร่วมมือทั้งฝ่ายอุปสงค์ อุปทาน และสนับสนุน
– ปรับรูปแบบและวิธีการให้สามารถจัดอาชีวศึกษาเพื่อคนวัยการศึกษาพื้นฐานถึงวัยผู้สูงอายุ
2) ปฏิรูปความร่วมมือ
– สร้างความเข้มแข็งในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.อศ.)
– ยกระดับมาตรฐานและขยายการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคี
– สร้างมาตรการและแรงจูงใจให้สถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนในการจัดอาชีวศึกษามากขึ้น
– สร้างแรงจูงใจให้ผู้อำนวยการและครูในการร่วมมือจัดอาชีวศึกษากับภาคเอกชน
3) ปฏิรูประบบเส้นทางอาชีพและความก้าวหน้าของผู้สำเร็จอาชีวศึกษา
– ปรับหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียน และการประเมินทักษะตามสภาพจริง ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ
– สร้างเส้นทางอาชีพผู้สำเร็จอาชีวศึกษาจากสมรรถนะ ประสบการณ์ และตำแหน่งงานที่สูงขึ้น
– ผลักดันการจ่ายค่าตอบแทนตามระดับฝีมือ
– ขยายโอกาสพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ โดยการฝึกอบรมหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ มีประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปอาชีวศึกษา คือ
1. จัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนวัยการศึกษาพื้นฐานถึงผู้สูงวัย
2. ปรับรูปแบบ วิธีการจัดการอาชีวศึกษา ทั้งในและนอกระบบ
3. สร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือสามฝ่าย ทั้งด้านอุปสงค์ อุปทาน และสนับสนุน
4. ปรับระบบการบริหารจัดการครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มีระบบการเลื่อนไหลของครูอาชีวะ และผู้เชี่ยวชาญอาชีพในสถานประกอบการ
5. ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณ และการกำหนดรายจ่ายต่อหัวที่เหมาะสม
6. ปรับโครงสร้างเล็กน้อยเพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ โดย สอศ.ยังอยู่ภายใต้ ศธ. แต่จะใช้พื้นที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัด/ภาค เป็นฐานในการจัดอาชีวศึกษา และจะรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน โดยจะมีหน่วยงานระดับกรมใน สอศ.
ทั้งนี้
● รับทราบข้อเสนอและมุมมองต่อการจัดการศึกษาไทย
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอและมุมมองต่อการจัดการศึกษาไทย ในประเด็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งนำเสนอโดย Prof. Dr. Erno Lehtined ผู้เชี่ยวชาญประเทศฟินแลนด์และคณะ ที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สถานศึกษาในด้านการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียน โดยใช้ประสบการณ์การปฏิรูปการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จนทำให้ฟินแลนด์ได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในระบบการศึกษาระดับโลก
จากผลการประเมินในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA เป็นอันดับที่ 1 ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความสามารถทางการอ่าน และทักษะการแก้ไขปัญหา ตลอดจนผลต่างของคะแนนสูงสุดและต่ำสุดของนักเรียนฟินแลนด์ ยังมีค่าความแตกต่างน้อยที่สุดอีกด้วย
Prof. Dr. Erno Lehtined กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูล รายงานการประเมินต่างๆ และการเยี่ยมสถานศึกษาของไทยหลายแห่ง พบว่าหน่วยงานและสถานศึกษามีความตั้งใจที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีโรงเรียนบางแห่งมีคุณภาพเทียบได้ในระดับโลก ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นตัวอย่างให้แก่โรงเรียนต่างๆ ในประเทศและต่างประเทศ แต่มีปัญหาที่ท้าทายคือ การปรับปรุงโครงสร้างในขั้นตอนของการปฏิรูปการศึกษา ประกอบกับระบบการศึกษาที่ถูกหลอมรวมเข้ากับคุณค่าทางวัฒนธรรมและสังคม ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดคุณลักษณะโดยตรงจากสังคมหนึ่งไปสู่สังคมหนึ่งได้
นอกจากนี้ มีข้อเสนอและมุมมองต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ดังนี้
-
การเตรียมความพร้อมครูที่มีคุณภาพในอนาคต โดยการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาครูให้ตอบสอนความต้องการของการสอนที่แตกต่างกันในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา บนพื้นฐานแนวคิดการทำวิจัยและการประยุกต์ใช้ มีการทบทวนการผสานเนื้อหา องค์ความรู้ หลักการสอน และประสบการณ์ในการสอนเชิงปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือในอาชีพครู พร้อมทั้งดึงดูดคนรุ่นใหม่มาเป็นครู
-
การพัฒนาคุณภาพการสอนและกระบวนการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่น การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพจำเป็นต้องมาจากการผนึกกำลังจากองค์กรระดับท้องถิ่น โดยหน่วยงานในระดับท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมการศึกษาอย่างจริงจัง จัดให้มีโรงเรียนนำร่องในชนบทที่มีอำนาจอิสระในการบริหาร ใช้แนวทางการศึกษาใหม่ และขยายโรงเรียนนำร่องออกไปในพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ควรมีการฝึกอบรมครูครั้งใหญ่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางบวกสำหรับการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งชี้ว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตของชาติขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคนรุ่นใหม่ทุกคน จึงจำเป็นต้องปฏิรูปองค์ความรู้ สภาวะทางอารมณ์ และการพัฒนาบุคลิกภาพของคนรุ่นใหม่ทุกคน ให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดในทุกระดับชั้น รวมทั้งการประเมินผลสู่การพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งการพัฒนาครูให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและหน่วยงาน มีการพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติและเรียนรู้เชิงลึก เพิ่มอำนาจการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระแ
บบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงคุณภาพศักยภาพผู้สอนให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเข้าถึงการสร้างองค์ความรู้และผลสะท้อนกลับ ตลอดจนมีสื่อการสอนที่มีคุณภาพและสามารถประยุกต์หลักการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย -
การสร้างขีดความสามารถระดับชาติเพื่อการพัฒนาโรงเรียนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้เสนอให้มีการสร้างสถาบันวิจัยระดับชาติ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยอิงกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในเครือข่าย มีการสร้างแนวคิดที่เข้มแข็งสำหรับการประเมินเพื่อพัฒนาในการประเมินผลระดับชาติและการประกันคุณภาพ
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
26/2/2558