ประชุมคณะอนุกรรมการใน กรอ.อศ.

โปรดติดตามสรุปข่าว https://www.moe.go.th/websm/2015/feb/072.html

ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม “คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา​กลุ่มอาชีพ” เพื่อสนับสนุนการทำงานของ “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.)” ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

ประธานแจ้งที่ประชุมทราบนโยบายการขับเคลื่อนด้านการอาชีวศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ กรอ.อศ. และแนวทางและมาตรการการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเปิดการประชุมว่า ขอขอบคุณผู้บริหารจากภาคเอกชนที่รับเป็น กรอ.อศ. และคณะอนุกรรมการฯ กลุ่มอาชีพชุดต่างๆ ทั้ง 19 คณะ ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการในฐานะภาคการผลิตบุคลากร และผู้ใช้ คือภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและภาคส่วนอื่น ซึ่งเห็นว่ามีการดำเนินงานที่รุดหน้าไปมากหลายเรื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง สอศ.กับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการอีกมากมาย ในแต่ละกลุ่มอาชีพมีความพยายามที่จะรวมกลุ่มเพื่อร่วมมือกันดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มีความพยายามผลักดันการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านอาชีวศึกษาทุกกลุ่มอาชีพอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีความจำเป็นและสามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้ แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่อาจทำได้ทั้งหมดโดยลำพัง หรือทำได้ไม่ดีหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจับมือกันดำเนินการในลักษณะดังกล่าวสำเร็จลุล่วงไปได้ กระทรวงศึกษาธิการก็จะมีความภาคภูมิใจในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพที่ตรงตามความต้องการ ส่วนผู้ประกอบการก็จะสบายใจที่จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถทำงานได้ นักศึกษาที่สำเร็จอาชีวศึกษาก็จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีงานทำ สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

ทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งหวังของทั้งกระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษา สอศ. ทั่วประเทศ ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการผลิตบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน อีกทั้งได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนด้านการอาชีวศึกษา 10 ประการ ได้แก่

1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการพัฒนาโรงเรียนดี-อาชีวะดี-ครูดี-สื่อดี และผลิตกำลังคนให้เชื่อมโยงกับตลาดแรงงานมากขึ้น 2) ขยายผลการจัดหลักสูตรทวิภาคีและสหกิจศึกษาโดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ 3) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาสายอาชีพอย่างจริงจังโดยการจัดตั้ง กรอ.อศ. 4) จัดให้มีหลักสูตรทักษะอาชีพควบคู่หลักสูตรสามัญในระดับมัธยมศึกษา 5) พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามสมรรถนะความรู้ความสามารถและเร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ 6) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เชื่อมโยงกับการวิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี 7) ผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนและการพัฒนาประเทศ 8) ปรับภาพลักษณ์ของการอาชีวศึกษา 9) ยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีศักยภาพด้านการอาชีวศึกษาและภาคการผลิตให้มากขึ้น 10) จัดสรร “ทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ” สำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษา

เป้าหมายสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษา คือ จะทำอย่างไรให้การอาชีวศึกษาสามารถผลิตและพัฒนากำลังคนได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งก็คือภาคเอกชน ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณ เพราะประเทศไทยในแต่ละภาค แต่ละกลุ่มอาชีพ มีความขาดแคลนบุคลากรที่มีขีดความสามารถ เฉพาะในภาคการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคการบริการก็มีความขาดแคลนหลายแสนคนแล้ว ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการไม่มีกำลังการผลิตได้จำนวนมากขนาดนั้น ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากวัตถุดิบ ซึ่งก็คือเยาวชนหรือนักเรียนไทยมีความสนใจเรียนสายอาชีวศึกษาน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเรียนสายสามัญเพื่อให้ได้วุฒิปริญญาตรี ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ค่านิยมของคนไทยที่ต้องการให้ลูกหลานจบปริญญาตรี เป็นหน้าเป็นตาของครอบครัวและวงศ์ตระกูล

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ภาพลักษณ์ของการอาชีวศึกษา ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองไม่กล้าส่งลูกหลานเข้ามาเรียนสายอาชีวศึกษา หรือแม้แต่ตัวนักเรียนเองไม่กล้าเรียนเพราะเกรงว่าจะมีอันตราย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับทราบปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว และพยายามที่จะกระตุ้นความสนใจของนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาให้เปลี่ยนใจมาเรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนระหว่างผู้เรียนสายสามัญต่อสายอาชีวศึกษาอยู่ที่ประมาณ 64 : 36 ที่ถือว่ายังน้อยอยู่

ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการแนะแนว นิเทศ ให้ความรู้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ เพื่อให้สังคมและสื่อได้รับทราบถึงประโยชน์ของการเข้ามาเรียนสายอาชีวศึกษาและมีส่วนช่วยในการตัดสินใจของนักเรียน เชื่อว่าการศึกษาในปัจจุบันและอนาคตจะเป็นการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ไม่ใช่เรียนจบแล้วยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร แล้วก็ตกงานเป็นแสนคนต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะในตลาดแรงงานมีความขาดแคลนบุคลากรหลายแสนคน

หากสามารถจูงใจให้นักเรียนหันมาเรียนสายอาชีวศึกษาได้ ความสมดุลก็จะเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนต้องช่วยกัน ทั้งนี้ มีความมั่นใจว่าอาชีวศึกษาจะสร้างชาติได้แน่นอนหากมีการผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น

 
ภาพ สถาพร ถาวรสุข

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.  กล่าวว่า จากการที่ รมว.ศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. จำนวน 19 กลุ่มอาชีพ (กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร/ กลุ่มอาชีพสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่น/ กลุ่มอาชีพแม่พิมพ์/ กลุ่มอาชีพเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร/ กลุ่มอาชีพก่อสร้าง สถาปัตย์ และโยธา/ กลุ่มอาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์/ กลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี/ กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์/ กลุ่มอาชีพบริการยานยนต์/ กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว/ กลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ/ กลุ่มอาชีพพลังงาน/ กลุ่มอาชีพค้าปลีก/ กลุ่มอาชีพเครื่องยนต์เล็ก/ กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร/ กลุ่มอาชีพปิโตรเคมี/ กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน/ กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมพลาสติก/ กลุ่มอาชีพนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ) นั้น

ขณะนี้ มีกลุ่มอาชีพที่ขอจัดตั้งเพิ่มตามความต้องการของสภาอุตสาหกรรมฯ 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1) กลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น 2) กลุ่มอาชีพการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 3) กลุ่มอาชีพเครื่องจักรกลโรงงานและเครื่องจักรกลการเกษตร และต้องการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ กรอ.อศ. ใน 3 ภาค ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการ กรอ.อศ. ภาคเหนือ 2) คณะอนุกรรมการ กรอ.อศ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3) คณะอนุกรรมการ กรอ.อศ. ภาคใต้ ซึ่งจะได้เสนอ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลทั้ง 3 กลุ่มอาชีพเพิ่มเติม และคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 ภาค ดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ และกรอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ ทั้ง 22 กลุ่มอาชีพ คือ

1) วิเคราะห์ตามความต้องการกำลังคนในกลุ่มอาชีพ (Demand Side) ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

2) วิเคราะห์ข้อมูลการผลิตกำลังคนในกลุ่มอาชีพ (Supply Side)

3) กำหนดสมรรถนะอาชีพตามความต้องการของสถานประกอบการ (กำหนดมาตรฐานอาชีพ)

4) ปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะร่วมกับสถานประกอบการ

5) คัดเลือกสถานศึกษาและนำร่องเพื่อทดลองใช้หลักสูตรในรูปแบบอาชีวศึกษาทวิภาคี

6) พัฒนาครูประจำการ/ครูฝึกในสถานประกอบการ

7) พัฒนาวัสดุครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน

8) การปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้

9) พัฒนาระบบวัดและประเมินผลการเรียนการสอนตามสภาพจริง

10) ประเมินผลการใช้หลักสูตรเพื่อปรับปรุงพัฒนา

11) จัดการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ

12) ส่งเสริมการจ้างงานตามสมรรถนะและการพัฒนาเส้นทางอาชีพ

โดยให้นำข้อเสนอจากที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย เช่น ควรมีการจัดตั้ง กรอ.อศ.ด้านวิจัยและพัฒนา ควรเน้นกิจกรรมนอกหลักสูตร โดยการจัดตั้งชุมนุมหรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ให้มีโรงงานต้นแบบ เพื่อเป็นสถานที่ในการผลิตนวัตกรรมต้นแบบที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมและเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของครูอาจารย์และนักศึกษา สร้างความเข้าใจในเรื่องของโครงการ Talent Mobility ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในการส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากภาครัฐไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ไม่สามารถมีนักวิจัยเองได้ รวมทั้งสร้างความเข้าใจเรื่องการลดหย่อนภาษีสำหรับสถานประกอบการให้แก่ภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ เช่น สรรพากรพื้นที่ ฯลฯ

เลขาธิการ กอศ. กล่าวด้วยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ กลุ่มอาชีพทั้ง 22 กลุ่มอาชีพในปีนี้ จะจัดขึ้นทุกๆ 3 เดือน คือ เดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคม 2558 จากนั้นจะมีการจัดงาน “อาชีวศึกษาทวิภาคี” ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาสู่สถานศึกษา สถานประกอบการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลการพัฒนาต่อไปด้วย

กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
27/2/2558