บทบาท “พ่อ” ที่ดี ไม่ได้น้อยไปกว่า “แม่”

       แม้ความทรงจำเกี่ยวกับ “พ่อ” ของดิฉันจะเลือนลางเต็มที แต่เรื่องราวหลายเรื่องกลับมากระจ่างชัดอีกครั้งในวันที่เป็น “แม่” ของลูกชายสองคน และในวันที่มี “พ่อของลูก” อยู่ข้างกาย
       
       “พ่อ” มีความหมายยิ่งใหญ่ปานใด มีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการเป็นทั้ง “สามี” และเป็น “พ่อของลูก”
       
       “บทบาทของสามี” ในความหมายของดิฉันไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความรัก หรือการไม่นอกใจ หรือการเอาอกเอาใจ หรือการให้ภรรยาทำหน้าที่ของแม่อย่างเต็มที่.. หรือ ฯลฯ
       
       ทว่าความหมายต่อบทบาทของสามี คือการใช้ชีวิตร่วม การเป็นเพื่อนชีวิต และการเข้าใจชีวิตครอบครัว
       เพราะ…การร่วมชีวิตคงไม่สำคัญ ถ้าใช้ชีวิตร่วมไม่เป็น
       เพราะ…การเป็นเพื่อนคงไม่สำคัญ ถ้าไม่เข้าใจนัยสำคัญของการเป็นเพื่อนชีวิต
       เพราะ…การสร้างครอบครัวที่ดีคงไม่สำเร็จ ถ้าไม่เข้าใจชีวิตครอบครัวของตัวเอง
       “บทบาทพ่อของลูก” ก็เช่นกัน ถ้าเป็นเพียงแค่มีส่วนทำให้ชีวิตหนึ่งเกิดขึ้นมา โดยปราศจากการทำหน้าที่อื่น ๆ ที่คนเป็นพ่อพึงมีส่วนร่วมด้วย ก็คงเพียงแต่ได้ถูกใครคนหนึ่งเปล่งวาจาเรียกว่า “พ่อ” เท่านั้น
       
       แต่นัยสำคัญ เมื่อวันหนึ่งเราได้มีโอกาสเป็นพ่อและแม่คน เราก็อยากเรียกใครคนพิเศษของเราว่าพ่อและแม่เต็มหัวจิตหัวใจ เป็นความรักที่ก่อตัวจากมนุษย์สู่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างรอบด้านเพื่อให้ลูกสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความสุข เป็นคนดี และตามมาด้วยการเป็นเด็กเก่ง
       
       มโนภาพของพ่อที่ดีควรเป็นอย่างไรล่ะ..?
       ความสำคัญของพ่ออาจไม่เท่าแม่ แต่บทบาทของพ่อต่างหากที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่…มนุษย์น้อยคนหนึ่งที่มีแม่เพียงคนเดียว อาจสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ความสมบูรณ์ของการเข้าใจองค์ประกอบของชีวิตบางด้านอาจหายไป..!!
       
       
เด็กชายจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมา โดยมีแม่เลี้ยงดูโดยลำพัง เด็กเหล่านั้นก็สามารถเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขได้ แต่ชีวิตบางด้านอาจขาดหายไป ด้านควรที่จะได้แบบอย่างจากพ่อ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอ พฤติกรรมของผู้ชาย หรือแม้แต่ความเข้าใจทางด้านอารมณ์ความรู้สึก และสรีระของเด็กชายที่คนเป็นแม่ไม่มี
       ไม่มีพ่อแม่คนใดอยากให้ลูกเบี่ยงเบนพฤติกรรม หรือเบี่ยงเบนทางเพศ
       มิใช่หรือ..!! แล้วหน้าที่และบทบาทของคนเป็นพ่อล่ะ..?
       

       พ่อของลูก ซึ่งเป็นคนข้างกายและข้างใจของดิฉันให้ความหมายของ “พ่อ” ที่บอกเตือนตัวเขาอยู่เสมอและเคยเขียนถึงว่า
       
       หนึ่ง – ความผูกพันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนมากกว่าหนึ่ง อันเป็นพื้นฐานในการสร้างความรักความผูกพันกับบุคคลอื่น ๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นต่อไป
       สอง – ความผูกพันของลูกที่มีต่อพ่อและแม่มีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างกัน ลูกจะเรียนรู้และแยกแยะว่าพ่อเป็นอย่างหนึ่ง แม่เป็นอย่างหนึ่ง และตอบสนองต่างกัน
       สาม – ส่งเสริมพัฒนาการด้านความมั่นใจและการปรับตัวต่อสิ่งใหม่ พบว่าลูกที่มีพ่อช่วยเลี้ยงดูด้วย เมื่อจำเป็นต้องแยกจากพ่อแม่ชั่วคราว จะมีความมั่นใจมากกว่า และร้องกวนน้อยกว่าเด็กที่ไม่มีพ่อช่วยดูแล
       สี่ – ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาโดยการเล่นที่หลากหลาย พ่อและแม่มีวิธีการเล่นกับลูกต่างกัน คือแม่มักใช้ของเล่นเป็นสื่อ ขณะที่พ่อจะใช้ของเล่นน้อยกว่า แต่จะให้สำรวจสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และมักใช้ตัวของพ่อในการเล่น โดยอุ้มให้ลูกเป็นเครื่องบินบ้าง ให้ปีนป่ายบนตัวพ่อบ้าง เหมือนกับพ่อเป็นสนามออกกำลังกาย เด็กจะมีพัฒนาการโดยเฉพาะกล้ามเนื้อ การเล่นที่แตกต่างของพ่อและแม่จะส่งเสริมกัน และช่วยพัฒนาการตอบสนองของเด็กทั้งสองรูปแบบด้วย
       ห้า – พัฒนาการด้านจริยธรรม การศึกษาวิจัยพบว่าครอบครัวที่พ่อมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูก จะทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมและยับยั้งชั่งใจตนเองได้ดีกว่า โดยพบว่าเด็กผู้ชายที่เติบโตมาโดยไม่มีแบบอย่างของพ่อจะก้าวร้าวกว่าเด็กที่มีพ่อช่วงเลี้ยงดู เด็กทุกคนต้องผ่านวัยที่เอาแต่ใจตัวเอง การที่มีพ่อสอนให้เขายับยั้งชั่งใจจะช่วยให้เด็กควบคุมความก้าวร้าวของตนเองต่อผู้อื่นได้ดีขึ้น
       
       ดร.จูดิธ ล็อก (Dr. Judith Logue) นักจิตวิทยาจากพรินส์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าการเป็นพ่อที่ดีต้องมีหลักสังคมวิทยา และจิตวิทยาในการเข้าใจลูก ที่สำคัญควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะช่วง 1-3 ขวบ เพราะช่วงนี้มีความสำคัญมากในด้านความรัก ความอบอุ่น
       
       ช่วงถัดมาคือ 3-5 ขวบ เพราะกำลังเรียนรู้ ยิ่งช่วงวัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่น และวัยรุ่น เป็นช่วงที่คนเป็นพ่อต้องยิ่งใส่ใจ และเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นทั้งพ่อ ทั้งเพื่อนและพี่ให้กับลูกได้ด้วย เวลาลูกมีปัญหาก็สามารถที่จะปรึกษาพ่อได้
       
       “พ่อที่ดีต้องปฏิบัติหรือเลี้ยงดูลูกให้ดีตั้งแต่เกิด พ่อต้องทำตัวให้ลูกไว้วางใจ เชื่อมั่น และรักใคร่ ยิ่งเล็กเท่าไรยิ่งต้องใส่ใจ เพราะเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาอารมณ์และทางกายที่จะอยู่กับลูกตลอดชีวิต”
       
       ที่สำคัญบทบาทของคนเป็นพ่อไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้เป็นแม่เลย
       เพียงแต่ในอดีต เรามักให้ความสำคัญและวางบทบาทเรื่องการเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของแม่ซะมากกว่า ในขณะที่พ่อถูกวางบทบาทให้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องทำมาหากิน หาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ความเป็นพ่อลูกมีระยะห่าง และส่งผลให้ลูกขาดความใกล้ชิดพ่อ แต่ในปัจจุบัน คนเป็นแม่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย รูปแบบของวิถีชีวิตครอบครัวก็เปลี่ยนไป
       
       ฉะนั้นเรื่องการบริหารจัดการชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีการวางบทบาท และแบ่งหน้าที่ของพ่อแม่ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นสำคัญคือการเข้าอกเข้าใจกัน และเห็นความสำคัญสอดคล้องกันว่าการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพ่อแม่ร่วมกัน อย่าลืมว่า ผู้ชายทุกคนเป็นพ่อได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นพ่อที่ดีได้


โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้จัดการออนไลน์