นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีนโยบายเปิดกว้างจัดการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีวิชาชีพให้ผู้สนใจทุกระดับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เลือกศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร (บางพูน) จังหวัดปทุมธานี เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ ทั้งในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้น รวมถึงการประสาน คัดเลือกวิทยากร และสถานศึกษาที่เหมาะสมรองรับการจัดฝึกอบรมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและวัตถุประสงค์ของนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับและเป็นที่สนใจของประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นโครงการความร่วมมือในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีสาขาอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ให้เยาวชนจากประเทศเนปาล และสหภาพพม่า การฝึกอบรมภาษาให้กับคณะครูอาจารย์จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นต้น
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย โดยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้วจะดำเนินการในด้านธุรกิจน้ำมันเป็นหลัก ส่วนด้านการเกษตรกรรมประมงยังดำเนินการในลักษณะพึ่งธรรมชาติ ยังไม่มีการใช้เทคโนโลยี และได้ไว้วางใจให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของประเทศฯ 3 หลักสูตร ได้แก่เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกุ้ง เทคโนโลยีการเลี้ยงปลาในกระชัง และการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งหลักสูตรเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกุ้งเป็นการฝึกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติแบบครบวงจร ทั้งด้านการเตรียมโรงเรือน(บ่อเลี้ยง) การตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์เครื่องจับ คุณภาพน้ำ การเพาะพันธุ์ และการให้อาหาร ฯลฯ มีระยะเวลาในการฝึกอบรม 1 เดือน ใช้วิทยากร และสถานที่ของวิทยาลัยประมงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เป็นที่ฝึกอบรม ผู้เข้ารับการอบรมรุ่นแรกจำนวน 8 คนได้รับการคัดเลือกมาจากรัฐบาลของสหพันธ์ฯ ประกอบด้วย วิศวกร นักวิชาการด้านพันธุกรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม โดยในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรียประเทศไทย ได้ร่วมเป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้เข้าฝึกอบรม และประชุมหารือความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาด้านการฝึกอบรมหลักสูตรอื่น ๆ ต่อไปด้วย