อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ชุมแพโมเดล : แนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพ” พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการของชุมแพโมเดล เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ โดยมี ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารโรงเรียน ครูแนะแนว ครูประจำชั้น นักเรียนที่กำลังจะจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนทุกสังกัดใน 7 อำเภอ พร้อมทั้งผู้ปกครอง และเครือข่ายสถานศึกษาสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สถานประกอบการ บริษัท โรงงาน เข้าร่วมกว่า 10,000 คน
ความจำเป็นต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังแข่งขันกับประเทศต่างๆ ไปพร้อมกับการจะต้องมีความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งแต่ละประเทศกำลังปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อใช้เป็นจุดเน้น ส่งเสริมและสร้างศักยภาพในด้านต่างๆ เท่ากับเป็นการยกระดับพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะการที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตและพัฒนา ทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนากำลังคนให้มีฝีมือและทักษะที่สอดคล้องกับกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ มีข้อค้นพบขององค์กรระหว่างประเทศ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับการพัฒนากำลังคน กล่าวคือ หากพัฒนากำลังคนดีจะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจดีไปด้วย ยิ่งพัฒนากำลังคนได้ดีมากเท่าใด ก็จะช่วยผลักให้เศรษฐกิจดีขึ้นเท่านั้น และเมื่อเศรษฐกิจดีก็จะมีงบประมาณมาพัฒนากำลังคนต่อไป ทำให้ประเทศประสบความสำเร็จจากการศึกษาและการพัฒนากำลังคนที่ดี
สภาวะแรงงานไทย ที่สวนทางกับความต้องการของฝ่ายผลิต
เมื่อ 20-30 ปีก่อน ประเทศไทยถูกมองว่า อาจจะไม่สามารถพัฒนาประเทศได้ทันประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากกำลังคนภาคการผลิตมีการศึกษาต่ำมาก ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ ในเวลาต่อมา เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจของไทยจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ประเทศเหล่านั้นก้าวหน้าไปไกลมาก เนื่องจากมีการพัฒนากำลังคนให้มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทย
และข้อมูลในปี 2008 ยังพบว่าแรงงานของไทยมีระดับการศึกษาที่ต่ำมากในขั้นน่าเป็นห่วง จึงเป็นหน้าที่ของ ศธ.ที่จะต้องศึกษาเพื่อหาคำตอบว่า เราจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ มีการเรียนฟรี 12 ปี แต่เหตุใดกำลังแรงงานไทยจึงมีการศึกษาต่ำ แล้วแรงงานเหล่านั้นเข้าสู่ระบบแรงงานเมื่อใด มีสัดส่วนเท่าใด จะต้องหาตัวเลขที่ชัดเจนต่อไป
นอกจากนี้ แรงงานที่จบแค่ชั้น ม.3 กว่าแสนคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งก็ไม่ได้เรียนต่อสายอาชีวะเพิ่มเติม จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกับความต้องการของฝ่ายผลิตและภาคเอกชน ที่กำลังต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่กำลังเจริญเติบโต มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหากการจัดการศึกษายังเป็นอยู่เช่นนี้ โอกาสที่จะไปแข่งขันกับประเทศใดก็เป็นเรื่องยาก
เน้นเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะ เป็นไปตามความสมัครใจ และอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล
ฉะนั้น ในการจัดการศึกษา จำเป็นต้องพัฒนาและผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ ซึ่ง ศธ.ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญจากปัจจุบัน 34 : 66 ให้เป็น 51 : 49 ในปี 2558 แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความสำคัญกับสายสามัญ เพราะหากสัดส่วน 49 ของสายสามัญมีคุณภาพ สามารถศึกษาต่อในระดับต่างๆ และมีงานทำ ก็เป็นจำนวนที่ไม่น้อยเกินไป แต่สิ่งสำคัญคือขณะนี้สัดส่วน 66 ของสายสามัญที่เรียนอยู่ มีจำนวนมากที่เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาโดยไม่มีงานทำ และเป็นปริญญาที่ไม่มีคุณภาพจำนวนมาก หากเราสามารถก้าวไปสู่สัดส่วน 51 : 49 อย่างมีคุณภาพ ก็จะทำให้การศึกษาทั้งสองส่วนดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะไม่ใช้ตัวเลขบังคับหรือกะเกณฑ์ให้เด็กไปเรียนสายอาชีพ แต่จะดำเนินการบนพื้นฐานของเหตุผลและความสมัครใจ สิ่งสำคัญคือฝ่ายอาชีวะจะต้องมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งการยกระดับอาชีวศึกษาก็เป็นนโยบายสำคัญของ ศธ. และรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดคุณภาพขึ้นจริง
นอกจากนี้ ได้มีการร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เชิญเอกชนและภาคอุตสาหกรรมทั้ง 12 ประเภท มาร่วมเป็นอนุกรรมการ กำหนดหลักสูตรตามความต้องการกำลังคน การอบรม ทดสอบ ประเมินผล ทั้งระบบตลอดกระบวนการ เพื่อเริ่มนำไปใช้ในหลายส่วนตั้งแต่ในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป รวมทั้งร่วมมือกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการอาชีวศึกษา โดยจะนำโมเดลมาปรับใช้ในการกำหนดหลักสูตร ฝึกอบรม เพื่อทำให้มาตรฐานการอาชีวศึกษาสูงขึ้น และตรงกับความต้องการของภาคเอกชนต่อไป
“ชุมแพโมเดล” : รูปแบบการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ในส่วนของ “ชุมแพโมเดล” ถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 5 และวิทยาลัยการอาชีพชุมแพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนต่อระดับชั้น ม.4 สายอาชีวะกับสายสามัญเป็น 51 : 49 ตามนโยบายของ ศธ. ภายใต้หลักการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม (Network Building and Participatory) เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการให้มีสมรรถนะสูงขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมในการกระบวนการบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดหลัก 5 ด้าน ดังนี้
1) การปรับกระบวนทัศน์ สพป.ต้องปรับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติ ปรับบทบาทจากผู้อำนวยความสะดวกเป็นผู้บริหารจัดการ โดยเน้นผลลัพธ์ (Outcome) มากว่าเน้นผลผลิต (Output)
2) การแนะแนวเชิงรุก ให้นักเรียนได้รับการแนะแนวจากสถานศึกษาที่เปิดสอนระดับอาชีวศึกษาโดยตรง
3) การแนะแนวผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต่อของนักเรียน คือ ผู้ปกครอง ครู และครูประจำชั้น
4) มองงานเห็นรายได้ ให้นักเรียนเห็นสภาพจริง มองเห็นอนาคต ทั้งอาชีพ ตำแหน่งงาน รายได้ และความมั่นคงในชีวิต
5) ดูแลเมล็ดพันธุ์อาชีวะ สถานศึกษาที่เปิดสอนอาชีวศึกษาที่นักเรียนตัดสินใจเข้าศึกษาต่อ ต้องมีปฏิสัมพันธ์ สื่อสารให้ข้อมูลกับเด็กและผู้ปกครอง ครูที่ปรึกษาของนักเรียนเป็นระยะๆ จนกระทั่งนักเรียนรายงานตัวและลงทะเบียนเรียน
ทั้งนี้ การแนะแนวถือเป็นภารกิจร่วมกันของทั้งสององค์กร การที่เขตพื้นที่การศึกษารับเป็นเจ้าภาพ เป็นการทำงานครั้งเดียวร่วมกันหลายๆ โรงเรียน โดยมีอาชีวะเป็นผู้ให้ข้อมูล และเอกชนเข้ามาย้ำให้นักเรียนเห็นว่าความต้องการมีอยู่จริง การพัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างไร เรียนจบจะมีงานทำ มีรายได้อย่างไร ความร่วมมือนี้ก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เอกชนก็จะได้บุคลากร กำลังคนที่มีฝีมือ มีทักษะที่สูงขึ้น และตรงกับความต้องการ ทำให้สามารถผลิตและแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น เพราะในเวลานี้เราต้องคุยกันเรื่องแนะแนวอาชีพ เพราะเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ ในขณะเดียวกันความสนใจในการศึกษาสายสามัญก็ยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องละเลย
ชื่นชมการดำเนินงานของ สพป.ขอนแก่น เขต 5
โอกาสนี้ รมว.ศธ.กล่าวแสดงความชื่นชม สพป.ขอนแก่น เขต 5 ที่ได้นำนโยบายของ ศธ.ไปปรับสู่การปฏิบัติในหลายเรื่องเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งการแสดงผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผลสัมฤทธิ์ในบางอำเภอไม่เป็นที่น่าพอใจ และนำมาวิเคราะห์จนพบว่า เกิดจากการขาดแคลนครูในวิชาต่างๆ ซึ่งก็ได้ดำเนินการเกลี่ยครู ทำให้มีครูที่จบสอนตรงกับวิชาเอกที่เรียนมาสอนในวิชาหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการให้โบนัสหรือความดีความชอบ โดยเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและผลงาน ซึ่งตรงกับความต้องการของ ศธ.ที่ต้องการให้เขตพื้นที่การศึกษามีความรับผิดชอบ (Accountability) ร่วมกันทั้ง
ฝากให้จัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง-เขตพื้นที่การศึกษา-สถานศึกษา และบทบาทที่เน้นอิสระในการทำงาน
รมว.ศธ.ได้กล่าวฝากให้เขตพื้นที่การศึกษาคิดในเรื่องต่างๆ อาทิ การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียน ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในแต่ละเขตเป็นอย่างไร มีจุดแข็งหรือประสบความสำเร็จเพราะอะไร มีจุดอ่อนหรือไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไรและจะแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งจะต้องดำเนินการในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ เป็นการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่าง ศธ.กับเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ.กับเขตพื้นที่การศึกษา หากจัดความสัมพันธ์ได้ดี อะไรที่ควรเป็นหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษา อะไรที่เขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเป็นรับผิดชอบต่อ สพฐ. ต่อ ศธ. ขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ก็จะทำให้เขตพื้นที่การศึกษารู้หน้าที่ของตัวเอง รู้ว่าจะถูกประเมินอย่างไร
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษานั้น สพฐ.ก็ไม่ควรสั่งการหรือกำกับในรายละเอียดมากเกินไป ต้องเปิดโอกาสให้เขตพื้นที่การศึกษามีอิสระในการทำงานมากขึ้น ดังนั้นบทบาทระหว่างเขตพื้นที่การศึกษากับโรงเรียนก็ต้องใช้หลักการนี้เช่นกันด้วย
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
20/12/2556