สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดโครงการค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ กีฬา ดนตรีและศิลปะ ครั้งที่ 1 (Talented Science, Sport, Music and Art Youth Camp : TSA Youth Camp) เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนตามความถนัด สร้างแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์เส้นทางความสำเร็จของผู้มีชื่อเสียง อาทิ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์, ศุ บุญเลี้ยง พร้อมเปิดมุมมองความคิดจากการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นค่ายที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน 2560 ณ อาคารนวัตกรรม ศ.ดร.สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา, รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ตลอดจนคณาจารย์ นิสิต และนักเรียนผู้ร่วมโครงการ เข้าร่วมกว่า 300 คน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวในพิธีเปิดว่า ในนามของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ได้เข้าร่วมโครงการทุกคน ซึ่งในเรื่องของพรสวรรค์ (Gifted) โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถช่วยกันสร้าง ช่วยกันเสริม ให้ชัดเจนขึ้นได้ตามความถนัดของเด็กแต่ละคน ส่วนการมี “ปัญญา” (Intelligent) นั้น เป็นคุณงามความดีและความถูกต้อง ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ซึ่งมีความคิด ความอ่าน และการกระทำ ที่ช่วยเสริมสร้างตนเองให้มีเกียรติยศและชื่อเสียงในทางที่ดี ดังนั้นพ่อแม่และครูอาจารย์ จะต้องสนับสนุนและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กตามความถนัดและความสามารถ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางที่ดีคือ เป็นคนเก่งที่มีปัญญาควบคู่คุณธรรม ซึ่งจะเป็นคุณความดีที่คงอยู่ตราบนิรันดร์จนเติบใหญ่ในอนาคต การจัดโครงการค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา ด้านดนตรีและศิลปะ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 26 เมษายน -10 พฤษภาคม 2560 รวม 15 วัน โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 60 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้มีความสามารถพิเศษในแต่ละด้าน ผ่านกิจกรรมบรรยาย อภิปราย เสวนา เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะผู้ทำ การทำงานเป็นทีม ปรับทัศนคติและสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดี พร้อมฝึกประสบการณ์จริงกับผู้เชี่ยวชาญและการถ่ายทอดประสบการณ์เส้นทางความสำเร็จของผู้มีชื่อเสียง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อาทิ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์, นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงคนแรกของประเทศที่ไปศึกษาวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกา, นายเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ซิโก้) อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย, ศุ บุญเลี้ยง นักร้อง นักดนตรี และนักประพันธ์เพลง ตลอดจนการศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้สำคัญ อาทิ พิพิธภัณฑ์กีฬา มศว องครักษ์, สโมสรเอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด, อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นงานสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง สกศ. เป็นหนึ่งในห้าองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ เชื่อมโยงประสานกับอีก 4 องค์กรหลักในการจัดการศึกษาในนามรัฐบาลที่ส่วนกลาง ตลอดจนการจัดการศึกษาในท้องถิ่นผ่านสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นการปฏิรูประบบการทำงาน ให้เกิดการบูรณาการการทำงานตอบโจทย์การจัดการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัยต่อไป โดยในส่วนของการปฏิรูปการศึกษานั้น ใช่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องหรือทุกอย่าง เช่นเดียวกับการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเครื่องจักรเครื่องยนต์ ดังนั้นการพัฒนาปรับปรุงเพื่อก้าวไปข้างหน้าไปสู่ยุค 4.0 หากทำได้ก็ถือว่าเก่ง แต่ก็ใช่ว่าจะต้องก้าวอย่างเต็มที่ในทุกเรื่องทุกกรณี คงเป็นไปไม่ได้ แต่ยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นและพยายามที่จะปรับระบบการทำงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์คือ ลูกหลานเยาวชนไทยมีความรู้ความสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างยั่งยืน ดังนั้น ขอให้ลูกหลานทุกคนภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ซึ่งเป็นการรวมคนเก่งด้านวิทยาศาสตร์ กีฬา ดนตรีและศิลปะ จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ อาทิ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่, โรงเรียนอัสสัมชัญ, โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย, โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม แต่จะเก่งอย่างไร จะอยู่ในโรงเรียนที่ดีที่มีเกียรติยศอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ดำรงตนด้วยความเป็นปุถุชน มีอัธยาศัยไมตรี มีน้ำใจ มีความจริงใจกับเพื่อนพ้องทั้งในโรงเรียนและต่างโรงเรียน โดยขอฝากพรอันประเสริฐตามพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ลูกหลานช่วยกันดำรงรักษาและมีไว้ประจำใจ 5 ประการ คือ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญูกตเวทิตา 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้ ขอฝากในเรื่องของการใช้ภาษาไทย ที่แม้จะอยู่ในช่วงของการปฏิรูปการศึกษาและก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาไทยปนกับภาษาอังกฤษจนคนฟังฟังไม่รู้เรื่อง แต่ขอให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง โดยควรหมั่นฝึกพูดภาษาไทยให้ไพเราะ ออกเสียงและอักขระให้ถูกต้อง ตลอดจนใช้คำศัพท์ที่เหมาะสม เพื่อดำรงรักษาเอกลักษณ์ของชนชาติไทย รวมทั้งภาษาประจำถิ่นในแต่ละภูมิภาค ที่เราต้องไม่อายหรือหลงลืม เพื่อที่ภาษาของเราจะไม่เลือนหายไป ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่จุดประกายแนวคิดการค้นหารูปแบบใหม่ของการจัดค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ และขอบคุณมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนนิสิตที่เป็นพี่เลี้ยง ดูแล แนะนำ ให้คำปรึกษาแก่ลูกหลานที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งให้ใช้สถานที่ของสถาบันการศึกษาที่สำคัญของชาติในการจัดค่ายครั้งนี้ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวรายงานการจัดโครงการว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ถือเป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีแผนส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพสูงและมีความสามารถพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ได้มีแผนพัฒนาคนทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ตลอดจนคนวัยทำงาน โดยให้ความสำคัญกับบุคคลอัจฉริยะและมีความสามารถพิเศษ ตามทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของ ศ.โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งได้เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป โดยมนุษย์มีความสามารถพิเศษที่สำคัญ อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา ด้านดนตรี ด้านภาษา ด้านศิลปการแสดง การประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ เป็นต้น ดังนั้น จากแนวคิดดังกล่าว จึงริเริ่มที่จะส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ให้มีทักษะด้านที่ตนเองถนัดเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนให้มีแรงบันดาลใจและเจตคติที่ดีในการพัฒนาตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมที่จะนำความสามารถพิเศษของตนไปทำประโยชน์ต่อสังคม และเป็นคลังสมองของประเทศต่อไปในอนาคต โครงการค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านกีฬา ด้านดนตรีและศิลปะ ครั้งที่ 1 (Talented Science, Sport, Music and Art Youth Camp : TSA Youth Camp) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนอายุระหว่าง 16-18 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็น ผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ 16 คน ด้านกีฬา 20 คน ด้านดนตรีและศิลปะ 24 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมค่าย TSA Youth Camp ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2560 เป็นเวลา 15 วัน ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยในส่วนของการจัดค่าย ได้เตรียมการโดยศึกษาดูงานการจัดค่ายผู้มีความสามารถพิเศษของหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น เพื่อนำมาปรับใช้ในการจัดค่ายตามบริบทของประเทศ พร้อมทั้งมีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษทั้ง 3 ด้านร่วมกัน ซึ่งถือเป็นค่ายแรกในประเทศไทย และเพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาค่ายบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ที่จะขยายผลการดำเนินโครงการในปีต่อไป ทั้งนี้ มีความคาดหวังว่านักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการฝึกฝนทักษะตามความถนัดของตนเองมากยิ่งขึ้น เกิดแรงบันดาลใจ และเปิดมุมมองความคิด เพื่อที่จะนำความสามารถพิเศษไปช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ พร้อมกับได้รับโอกาสในการรับความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นด้วย นอกจากนี้ ยังได้กรอบแนวคิดใหม่ของรูปแบบการจัดทำค่าย ที่ผ่านกระบวนการทดลองปฏิบัติจริงกับนักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม และประเมินผลการจัดโครงการ เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานทางการศึกษา สถาบันการฝึกอบรม ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้าและต่อยอดแนวคิดในการจัดทำค่ายกิจกรรมให้แก่ผู้มีความสามารถพิเศษในสาขาอื่น ๆ ต่อไป
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
26/4/2560