ค่ายภาษาอาชีวะ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังสรุปผลการจัดโครงการค่ายภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ-จีน) พร้อมทั้งให้โอวาทแก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สอศ.

รมว.ศธ.กล่าวขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จัดโครงการตามนโยบายด้านการศึกษาร่วมกันระหว่าง ศธ. และ สอศ. ที่จะส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอย่างเข้มข้น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศได้ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนเพื่อการสื่อสารและเพื่อวิชาชีพที่จะมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งการจัดค่ายภาษาต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นเวลา 1 เดือน และมีการเดินทางไปเรียนรู้ยังต่างประเทศด้วย ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะแต่เดิมจะใช้เวลาเพียง 3-4 วัน แต่การจัดครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก แนวคิดของการเรียนภาษาที่ว่า “ภาษาทุกภาษาจะต้องมีการเรียนอย่างเข้มข้นจึงจะได้ผล และไม่เพียงเรียนเพื่อสื่อสารเท่านั้น แต่เป็นการเรียนจากการใช้ภาษา” จึงขอชมเชย สอศ.ที่สามารถจัดค่ายเป็นเวลานาน มีการสอนอย่างเข้มข้น และมีครูเจ้าภาษาจากหลากหลายประเทศเป็นผู้สอน อีกทั้งส่งนักเรียนไปฝึกในประเทศเจ้าของภาษาอีกด้วย เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ และผู้เรียนมีความรู้สึกเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อผ่านการเข้าค่ายโครงการนี้ไปแล้ว

ภาษาอังกฤษ  ผลของการจัดค่ายแสดงให้เห็นว่า สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ เพียงแต่จะต้องมีการปรับให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง สรุปบทเรียนและนำมาพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอนภาษาอังกฤษ-จีนโดยรวม ซึ่งหมายความว่าเรากำลังจะเปลี่ยนการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในประเทศไทย ที่เรียนและสอนแล้วได้ผล คือ เรียนแล้วนำไปใช้ได้ ทั้งใช้สื่อสารได้ ใช้เรียนต่อได้ และใช้ในวิชาชีพ

ภาษาจีน  ขณะนี้มีผู้เรียนภาษาจีนจำนวนมากกว่า 8 แสนคน แต่จำนวนที่เรียนแล้วได้ผลดีหรือนำไปใช้ได้ยังไม่แน่ชัด ซึ่งหากจะสอนภาษาจีนก็จะต้องสอนอย่างเข้มข้นและไม่บังคับเรียน ภาษาอังกฤษอาจจะเป็นวิชาบังคับ แต่สำหรับภาษาจีนไม่เป็นวิชาบังคับ โดยควรให้เรียนเฉพาะคนที่สนใจและเรียนอย่างมีคุณภาพ กล่าวคือ ห้องเรียนมีขนาดเล็กลง มีการเรียนสนทนา

หนังสือ สื่อการเรียนการสอน และการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในไทย  ได้หารือกับ รมว.ศธ.จีน และผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือฮั่นปั้น (HANBAN) ในการเดินทางเยือนจีนครั้งล่าสุด ซึ่งทางจีนยินดีร่วมมือกับ ศธ. โดยเฉพาะการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับอาชีวะ มีความยินดีที่จะช่วยคิดหลักสูตร พัฒนาครู อบรมครู และสนับสนุนให้ส่งนักเรียนอาชีวะไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จะเปิดโอกาสให้นักเรียนอาชีวะได้รับทุนด้วย โดยได้หารือกับทางจีนว่า หากส่งนักเรียนไปเรียนที่จีน ขอให้สอนภาษาจีนก่อน จากนั้นทางจีนจะช่วยดูแลและหาที่เรียนให้กับนักเรียนต่อไป

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีโครงการลักษณะนี้ ทำให้การพัฒนาภาษาเป็นไปด้วยความเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการเห็นการเรียนภาษาที่ได้ผล คือ เมื่อมาเข้าเรียนอาชีวะ จะไม่มีการเรียนและสอนแบบเดิม แต่จะสอนและเรียนภาษาเพื่อการสื่อสาร รวมทั้งต้องการเห็นการเรียนการสอนภาษาแบบเข้มข้นในช่วงปีการศึกษาหรือภาคเรียนสุดท้ายก่อนจบ เพื่อให้นักเรียนที่จะจบ ปวช.หรือ ปวส.ไปสู่สถานประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ สามารถใช้ภาษาได้  ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาเพื่อวิชาชีพ เป็นการเรียนเพื่อการสื่อสาร เรียนคำศัพท์เกี่ยวกับวิชาชีพให้มากๆ และควรจบบทเรียนวิชาอื่นๆ ให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้มีเวลาเรียนภาษาอย่างเข้มข้นตามความสนใจของผู้เรียนก่อนที่จะจบการศึกษา เพื่อให้สามารถใช้ภาษาได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนในการทำงานในอนาคต โดยหากสามารถจัดหลักสูตรที่ดี ก็จะทำให้การเรียนภาษาเป็นเรื่องสนุก และจะมีนักเรียนสมัครใจเรียนมากขึ้น เพราะเห็นว่าเรียนแล้วได้ผลจริง ใช้งานได้จริง

การจัดโครงการกิจกรรมค่ายภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมทักษะวิชาชีพเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพและสร้างความเป็นเลิศของนักศึกษาอาชีวะ เพื่อสร้างทุนปัญญาชาติ กรณีไทย-จีน ในรูปแบบ Chinese Camp จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคยโสธร วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง และวิทยาอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี และโครงการส่งเสริมทักษะวิชาชีพเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพและสร้างความเป็นเลิศของนักศึกษาอาชีวะ เพื่อสร้างทุนปัญญาชาติ กรณีภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในอาชีพ จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา และวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี

ทั้งนี้ จากการสรุปผลการประเมินศักยภาพนักเรียน นักศึกษา ด้านทักษะทางภาษาอังกฤษและภาษาจีน พบว่ามีนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่นจากทั้งสองค่ายๆ ละ 25 คน รวม 50 คน ซึ่งจะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานและใช้ภาษาที่ได้เรียนรู้ในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเมียนมาร์ ในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ด้วย

นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
30/4/0557