เมื่อวันพุธ ที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น.นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรหลักสูตรโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดรุ่นที่ 1 เป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2564 โดยมี พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ,นางรุ่งอรุณ ไสยโสภณ ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานกศน.,ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.กทม. ผู้เข้าร่วมอบรม และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ อำเภอเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า มีความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรหลักสูตรโภชนาการ จากส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดรุ่นที่ 1 และจากการที่ครูโอ๊ะ ได้กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชง ที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กศน. ไม่ได้ทำหลักสูตรเพียงให้ความรู้ด้านกัญชาเท่านั้น ยังมีการนำองค์ความรู้ ด้านการตลาดเข้ามาใช้ สร้างอัตลักษณ์ธุรกิจกัญชาไทย ซึ่งหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น จะครอบคลุมในทุกผลิตภัณฑ์และบริการที่กัญชาและกัญชงมีศักยภาพ ตั้งแต่ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน
สำหรับการอบรมวิทยากรหลักสูตรโภชนาการ จากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดรุ่นที่ 1 โดยมีผู้อบรมทั้งสิ้น 120 คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าอบรบในครั้งนี้ ประกอบด้วย ครู กศน.,วิสาหกิจชุมชน และประชาชนที่สนใจ จากพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นให้วิทยากรนำความรู้ที่ได้ ไปถ่ายทอดสู่ประชาชนทำให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของกัญชา ก่อนนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบอาชีพต่อไป ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่จะมีตัวแทนเป็นวิทยากร จาก กศน.1 คน และตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชา 1 คน และการอบรมจะแบ่งเป็น 2 รุ่น
อย่างไรก็ตามความร่วมมือของ ศธ.และ สธ. นั้น เริ่มตั้งแต่การเขียนหลักสูตร และตำราเรียนให้กับ กศน.ซึ่งมีผู้ที่ลงทะเบียนเรียนและประสบความสำเร็จหลายแสนคน และจากความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการขยับขยายงานในด้านอาชีพ รวมทั้งการทำ MOU ครัวยิ้มจนมาถึงวันนี้ อีกสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญและระมัดระวังที่สุด คือ การให้ความรู้เด็กและเยาวชน ทำให้เข้าใจถึงคุณประโยชน์ของกัญชา ทั้งด้านการแพทย์ ยา และอาหาร รวมทั้งเข้าใจถึงโทษของกัญชา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ควรบริโภคกัญชา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณในความห่วงใยเกี่ยวกับการบริโภคกัญชา โดยไม่จำเป็นในกลุ่มของเด็ก ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอบรมในวันนี้จะได้รับความรู้อย่างถูกต้อง รอบด้านในทุกมิติ และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจ ว่าอายุเท่าไหร่ที่จะสามารถบริโภคผลิตภัณฑ์กัญชาได้ ต่อไป”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ครูโอ๊ะขอขอบคุณ ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรและภูมิปัญญาสุขภาพ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสำนักงาน กศน. โดยสำนักงาน กศน.กทม.ที่ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร โภชนาการจากส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายประชาชนได้รับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต และการพัฒนาสังคมและชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมประชาชนในการเรียนรู้และเข้าใจกัญชา มีทักษะในอาชีพ โดยใช้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชงที่ได้รับการยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดมาใช้ในการประกอบอาหารอย่างเหมาะสม ถูกสุขลักษณะและถูกต้องตามกฎหมาย นำมาสู่หลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากรในวันนี้ เพื่อจะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับประชาชน ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
31/3/2564