ครูโอ๊ะ เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์” ทุกสังกัดทั่วประเทศ

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 9.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เพื่อความเป็นผู้นำวิชาการ สู่การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ สำหรับศึกษานิเทศก์ทุกสังกัด ผ่านระบบ Zoom meeting จัดโดยสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย โดยมีศึกษานิเทศก์ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
 width=
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการกล่าวรายงาน ทำให้ทราบว่าศึกษานิเทศก์ของประเทศไทย มีองค์กรวิชาชีพส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของศึกษานิเทศ ให้เป็นบุคคลที่มีสมรรถะสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากศึกษานิเทศก์มีสมรรถนะที่สูง ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของครูผู้สอน ที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตลอดจนส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมของประเทศอีกด้วย
ในฐานะรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษานิเทศก์ทุกท่าน เพราะทุกท่านเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการที่ใกล้ชิดกับสถานศึกษามากที่สุด ในการขับเคลื่อนและนำนโยบายจากส่วนกลางไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด ทั้งเป็นโค้ชที่คอยซี้แนะนำ ส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือครูผู้สอน เป็นผู้ตรวจสอบ ติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมายทิศทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
 width=
“กระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับนโยบายการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระวิชาต่าง ๆ ด้วย ความเข้าใจ และนำไปใช้ไดในชีวิตจริง ทั้งทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน ตลอดจนทักษะด้านการสื่อสาร สื่อ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างเจตคติและแรงจูงใจการเรียนรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและใช้ความคิดในการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ความสามารถในการใช้สื่อ การสื่อสาร โดยเฉพาะ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล (Personal Skills) ให้มีความยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อส่วนรวม ตลอดจนมีภาวะผู้นำและรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ของผู้เรียน ในการรู้เทคโนโลยีและการรู้สารสนเทศในศตวรรษที่ 21
 width=
ส่วนครู ควรมีทักษะที่จำเป็นเช่นกัน ทั้งการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหา การสื่อสาร สื่อความหมาย และการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาส่งเสริมอย่างจริงจัง รวมทั้งมีความรู้ด้านเทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้ เพื่อจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดที่อิสระ คิดวิเคราะห์ เพื่อเปิดโอกาสและเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติและพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงมากขึ้น ภายใต้การกำหนดมาตรฐาน การประกันคุณภาพ พร้อมสนับสนุนทรัพยากร พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
 width=
ขอฝากศึกษานิเทศก์ในการนำไปสู่การพัฒนาการศึกษา ในหลายประเด็น ได้แก่
1. การนำข้อเสนอแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ ไปสู่การปรับปรุงพัฒนางานจัดการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน พร้อมรับฟังเสียงครูและผู้ปฏิบัติงานตัวเล็ก ๆ เพื่อนำประสบการณ์ทำงานจริง เทคนิคต่าง ๆ มาพัฒนาผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษา
2. การเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายของกลุ่มศึกษานิเทศก์ ทั้งศึกษานิเทศก์ปัจจุบัน ศึกษานิเทศก์ที่ก้าวหน้าสู่ผู้บริหาร และที่เปลี่ยนสายงาน/เปลี่ยนตำแหน่ง เพื่อบูรณาการการทำงาน เสริมสร้างศักยภาพการจัดการศึกษา
3. การสร้างห้องเรียนที่มีความสุข ทำให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข เมื่อนั้นการทำทุกอย่างด้วยใจเป็นสุขไปด้วย
4. การมีส่วนร่วมนำเสนอการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งให้แนวคิดและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามบริบทไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ขอฝากหลักธรรม อิทธิบาท 4 เพื่อเป็นหลักธรรมในการทำงานของครู บุคลากร ตลอดจนศึกษานิเทศก์ ในทุกศาสนา ประกอบด้วย ฉันทะ: การรักในหน้าที่และงานในความรับผิดชอบ วิริยะ: มุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร สู่งานด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ จิตตะ: การมีสมาธิ มีจิตใจอันบริสุทธิ์ ก็จะเกิดปัญญา และ วิมังสา: ความรอบคอบ แก้ไข ประยุกต์และสังเคราะห์วิธี/แนวทางการทำงานที่ดี ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่
 width=
ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณ คณะวิทยากร คณะกรรมการบริหารสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องขอบคุณศึกษานิเทศก์ของประเทศไทย ที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อที่จะมาพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมในการพัฒนางาน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยของเรา ให้สามารถผลิต เยาวชน ให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย
 width=
ขอให้ทุกคนหมั่นพัฒนาตนเอง วางตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ให้สมกับการเป็นพ่อแม่คนที่สองของลูกๆ นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่ยังขาดโอกาสและด้อยโอกาส กลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นเด็กไทยและเด็กที่มาเรียนมาอยู่บนแผ่นดินไทย จะทำอย่างไรให้การนิเทศก์สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์การจัดการศึกษา พร้อมตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเหล่านี้ในทุกมิติ ทั้งการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อมิติของความมั่นคง ขอบคุณค่ะ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
28/1/2565