นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารมช.ศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ เข้าร่วมการประชุมมอบนโยบายการจัดการเรียนการสอน สำนักงาน กศน. จังหวัดภูเก็ต พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการศึกษารองรับการเปิดประเทศไทยโดยไม่มีการกักตัว “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” ผ่านทางระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 สำนักงาน กศน. โดยมี ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. ผู้บริหาร กศน. นางคนึงนิจ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนผู้อำนวยการสถานศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า มีความตั้งใจในการติดตามการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาของหน่วยงานในกำกับดูแล และรับฟังความคิดเห็นเพื่อวางแนวทางการจัดการเรียนการสอนรองรับการเปิด Phuket Sandbox ร่วมกัน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบในจังหวัดภูเก็ตแล้วเช่นกัน ต้องชื่นชมในการวางแผนและสนับสนุนเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี
ในส่วนของ กศน. เมื่อมีการเปิดประเทศไทยโดยไม่มีการกักตัว หรือที่เรียกว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นั้น ก็จะมีคนจากหลายพื้นที่เข้ามาในจังหวัดภูเก็ต จึงยิ่งมีความห่วงใย และต้องการมารับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทาง มาตรการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียน ครู บุคลากร ตลอดจนประชาชนเป็นหลัก
“ขอฝากไปยังครู กศน. ให้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ หากกระบวนการหรือวิธีการสอนใดที่ดีอยู่แล้ว ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการปรับวิธีการหรือนำเทคนิคใหม่ ๆ สอดแทรกในการจัดการเรียนการสอนทั้ง 4 ON (On-Air On-line On-demand และ On-Hand) เพื่อสร้างความน่าสนใจและดึงดูดนักศึกษาให้เข้ามาเรียนมากขึ้น ที่จะช่วยลดการขาดเรียนและขาดโอกาสทางการศึกษาไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ขอให้ชาว กศน.ส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงาน ให้ดูแลและป้องกันตัวเอง พร้อมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 และที่สำคัญ ขอฝากให้ครูช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกศิษย์ ให้พวกเขามีกำลังใจในการใช้ชีวิต มีความสุขกับการเรียนกับ กศน. มาร่วมกันเพิ่มพูนทักษะอาชีพที่ทันสมัย รูปแบบใหม่ ๆ แก่คนทุกช่วงวัย โดยดึงอัตลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ท้องถิ่น ชุมชน มาผสมผสานกับการสร้างอาชีพ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ที่มีความโดดเด่นและแตกต่าง ที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และเมื่อเกิดการทำซ้ำหรือพัฒนาต่อเนื่อง ก็จะทำให้เกิดภาพจำ ทำให้คนนึกถึงเอกลักษณ์ของชาว กศน.ได้ต่อไป เพราะเราคือ กศน.เพื่อประชาชน รองรับการดำเนินงานตามนโยบาย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ของรัฐบาล
ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณทุกเสียงสะท้อนของผู้บริหาร บุคลากร และครู กศน. ที่ได้ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมวางแผนและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งการนำนโยบายของครูโอ๊ะไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และนโยบายของเลขาธิการ กศน.ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขอนำคำชื่นชมของ รมว.ศธ. มาถ่ายทอดให้ได้รับรู้ ว่า “กศน.เป็นผู้ที่มีแนวคิดการทำงานที่ดีและมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง” ครูโอ๊ะขอมอบความดีทั้งหมดนี้ให้กับพี่น้อง กศน.ทุกคน เพราะเป็นความสำเร็จ ความทุ่มเท และความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ซึ่งได้รับรู้และสัมผัสด้วยตัวเองในการลงพื้นที่ภูเก็ตทุกครั้ง ครูโอ๊ะมีความซาบซึ้งใจในความเสียสละของทุกคน แล้วเราจะจับมือกันพัฒนาให้ กศน.ของเรา เป็น กศน.เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอชื่นชมชาว กศน.ภูเก็ต ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและช่วยเหลือจังหวัดภูเก็ตในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาอาชีพ ขอให้ปรับให้ตรงตามบริบทของพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ให้มีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ส่วนการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอฝากให้จัดการศึกษาและช่วยเหลือกลุ่มเด็กและประชาชนที่เป็นผู้อพยพ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต ให้ได้เข้าถึงการศึกษาของ กศน.ด้วย
นายพะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาของ กศน.ถือว่ามีความพิเศษมาก และรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ เพราะเป็นการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในส่วนของนโยบาย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาการศึกษา เมื่อจังหวัดภูเก็ตเป็นโมเดล การจัดการศึกษาทั้งในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ก็จะเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาของ กศน.ในมิติใหม่ที่น่าสนใจ และเชื่อมโยงไปยังส่วนต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะหากพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า และการบริการได้อย่างมีอัตลักษณ์ ตามนโยบายของ รมช.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ก็จะทำให้เกิดจุดขายที่มีความโดดเด่นอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา
นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน.มีความพร้อมในการนำนโยบายของ รมช.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนโยบาย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งได้เน้นย้ำให้ครู กศน. ได้ดูแลนักศึกษาที่ขาดโอกาส และจัดการศึกษาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอแสดงความขอบคุณ รมช.ศธ.ที่ช่วยผลักดันในเรื่องของอินเทอร์เน็ตตำบลร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมรับที่จะไปสำรวจข้อมูลการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และความขาดแคลนของนักศึกษา กศน.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอปัญหาความต้องการในภาพรวมต่อไป
นางคนึงนิจ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอน ว่า ขณะนี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต มีบุคลากรรวม 65 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 64 คน ส่วนนักศึกษาที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีจำนวน 1,811 คน ได้รับวัคซีนแล้ว 1,132 คน และมีผู้ปกครองได้รับการฉีดวัคซีน 1,516 คน โดยมีเป้าหมายรณรงค์ให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งหมด (100 เปอร์เซ็นต์) พร้อม ๆ กับมีการปฏิบัติตามมาตรการของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น อาทิ การคัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าเรียน สวมใส่หน้ากากตลอดเวลา จัดแอลกอฮอล์และจุดบริการล้างมือ การเว้นระยะห่าง และหมั่นทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ และได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
โดยสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ ทั้งการเรียนแบบ On-Air ผ่าน ETV การเรียนแบบ On-demand ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ การเรียนผ่านห้องเรียน On-line ได้แก่ Google Classroom Zoom และ ETV และการเรียนในระบบ On-hand โดยครูจะส่งใบงานร่วมกับการเยี่ยมบ้านนักศึกษา ส่วนการเรียนแบบ On-Site สามารถจัดให้มีการเรียนในบาง กศน.ตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่สีเหลือง เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ที่จะกำหนดผู้เข้าเรียน ห้องละไม่เกิน 20 คน ในส่วนของการฝึกอาชีพให้กับประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ขณะนี้ได้สอนในเรื่องการทำหน้ากากผ้า กระเป๋าผ้า กางเกงเล เป็นต้น และได้มีการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เช่น อบรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การพัฒนาสุขภาพจิตดี มีชีวิตห่างไกลจากโรคโควิด-19 เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ในการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” โดยได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโรงครัวสนามและรับบริจาคสิ่งของจำนวน 3 จุด ได้แก่ โรงครัวสนามจังหวัดภูเก็ต (กศน.อำเภอเมืองภูเก็ต) โรงครัวสนาม กศน.อำเภอถลาง และโรงครัวสนาม กศน.อำเภอกระทู้ โดยได้จัดทำอาหารกล่อง เพื่อบริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ตลอดจนศูนย์ฉีดวัคซีนและด่านคัดกรองโรคโควิด-19 จำนวน 700-1,200 กล่องต่อวัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดภูเก็ต ทั้งยังมีประชาชนชาวภูเก็ตร่วมสนับสนุนข้าวสาร น้ำ และอาหาร ให้กับโรงครัว เพื่อร่วมกันนำพาภูเก็ตไปสู่เป้าหมายของจังหวัด “ภูเก็ตต้องชนะ คนภูเก็ตไม่ทิ้งกัน”
สรุปประเด็นข้อเสนอแนะ ปัญหา และอุปสรรค รองรับการจัดการศึกษาของสำนักงาน กศน.จังหวัดภูเก็ต
– ความไม่พร้อมของนักศึกษา กศน.บางคน ที่ยังขาดเครื่องมือสื่อสารและสัญญาณอินเตอร์เน็ต ครูจึงต้องปรับรูปแบบการเรียนให้เหมาะสม อาทิ รูปแบบ On-demand รูปแบบ On-Hand
– การเสนอโครงการจัดตั้งโรงทาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตเป็นการเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี ที่จะนำงบประมาณมาจัดซื้ออุปกรณ์ประกอบอาหารปรุงสำเร็จ สำหรับส่งไปยังบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
– ชาวภูเก็ตมีความคาดหวังต่อนโยบายเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันที่ 1กรกฎาคม 2564 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งในเชิงธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว การบริการ ร้านอาหาร และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน เป็นต้น รวมทั้งการจัดการศึกษาที่จะสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย
จันทนา เชียงทอง: สรุป
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
สถาพร ถาวรสุข: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
29/6/2564