เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดงาน EDUtech Thailand 2021 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “แนวทางการปรับเปลี่ยนและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการศึกษาในโลกยุคปัจจุบัน” ณ ห้องประชุมจุลจอมเกล้า อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการ EDUtech Thailand 2021 ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาและนิทรรศการที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และยินดีที่ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน EDUtech เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ได้จัดงานในลักษณะเดียวกัน อาทิ การประชุม EDUtech India, EDUtech Indonesia, EDUtech Philippines และ EDUtech Malaysia โดยมี EDUtech Asia เป็นงานประชุมหลัก นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา ตลอดจนขอชื่นชมผู้จัดงาน EDUtech Asia ที่ได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของทุกภาคส่วนของประเทศ ในภูมิภาคร่วมกันจัดงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางการปรับเปลี่ยนและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการศึกษาในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงผู้จัดงาน EDUtech Thailand 2021 ครั้งที่ 5 ที่ได้ร่วมมือกับหุ้นส่วนด้านการศึกษาในประเทศไทยร่วมจัดงานในครั้งนี้
กระทรวงศึกษาธิการไทย มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการและแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2021 โดยยึดหลักความปลอดภัยจากเชื้อโรคเป็นอันดับแรก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในช่วงเปิดภาคเรียน เพื่อให้เป็นทางเลือกของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนแบบปกติ (On-Site), การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบโทรทัศน์ (On-Air), ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On Demand), ผ่านการถ่ายทอดสด (Online) และการนำส่งเอกสารที่บ้าน (On-Hand) โดยแต่ละรูปแบบมีความเหมาะสมแตกต่างกันตามบริบทของนักเรียน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงความพร้อมของนักเรียน และผู้ปกครอง ทั้งด้านอุปกรณ์การเรียน, ระบบการสื่อสาร และปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ตลอดจนต้องไม่สร้างภาระในเชิงปฏิบัติหรือค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น อีกทั้งต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสม และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้เตรียมความพร้อมด้านการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบโทรทัศน์ DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และผ่านสื่ออิเล็กทรอกนิกส์ เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้แบบ On-Demand ครู นักเรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้สื่อแต่ละประเภทก็จะมีความเหมาะสมต่อผู้เรียนที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ครูจะต้องเป็นผู้คัดสรรสื่อที่สอดคล้องกับบทเรียนของตนเอง มาใช้ประกอบการสอนออนไลน์ โดยค่อนข้างมั่นใจว่าขณะนี้ครูหลายท่าน เริ่มมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์มากขึ้นแล้ว เนื่องจากต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นแบบออนไลน์ ทั้งการถ่ายทอดสด (Live) หรือผ่านโปรแกรมประชุมทางไกลต่าง ๆ เช่น Google Meet, Microsoft Teams, Zoom Meeting และอื่น ๆ นอกจากนี้ครูยังต้องทำหน้าที่สื่อสารกับนักเรียน และผู้ปกครองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น มอบหมายและติดตามงานผ่าน Google Classroom และสื่อสารผ่าน Facebook และ LINE
นอกจากนี้ ศธ. ยังได้ตระหนักถึงภาระงานที่เปลี่ยนไปของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ย่อมมีข้อติดขัดในหลาย ๆ ด้าน ซึ่ง ศธ. ก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหา เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย ทั้งในด้านพื้นฐานโครงสร้างเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการจัดสรรแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมทั้งยังได้สนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบการประชุมทางไกล อาทิ WebEx, AcuLearn, และ Brain Cloud ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น อาจจะไม่ได้ทำให้การเรียนการสอนคล่องตัวเสมอไป ยังมีครูที่ต้องการพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน ซึ่ง สพฐ. กำลังดำเนินการจัดทำมาตรฐานสมรรถนะทางด้านดิจิทัล (Digital Literacy) สำหรับครู และผู้บริหาร ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยพัฒนาการสอนออนไลน์ ได้แก่ การจัดการอบรมการใช้เทคนิคการสอนออนไลน์ให้แก่ครูผู้สอน, การพัฒนาการเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับครู, การอบรมศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศ และการอบรมออนไลน์การใช้เครื่องมือการเรียนการสอนสำหรับครู อีกทั้งยังมีภาคเอกชนที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ อาทิ Google, Microsoft Teams บริษัท อีเลิร์นนิตี้ (ประเทศไทย) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการเรียนออนไลน์ได้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง เนื่องจากนักเรียนจำเป็นต้องใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ศธ. จึงได้ดำเนินการหาช่องทางช่วยเหลือผู้ปกครอง และนักเรียน ด้านภาระทางการเงิน โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ของนักเรียนที่มีความจำเป็นในการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2564 เป็นระยะเวลา 2 เดือน พร้อมทั้ง สพฐ. ได้ปรับการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เงินอุดหนุนโรงเรียน) รายการอุปกรณ์การเรียน และรายการการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมาสนับสนุนให้โรงเรียนจ่ายเป็นค่าเช่าหรือซื้ออินเทอร์เน็ตสำหรับนักเรียนที่มีความจำเป็น ตลอดจนมาตรการลดภาระทางการศึกษาให้แก่นักเรียน และผู้ปกครอง ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดงาน EDUtech Thailand 2021 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาไทยและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ถ่ายทอดแนวคิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยไปในแนวทางที่ทันต่อยุคสมัย New Normal และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมในงาน EDUtech Thailand 2021 จะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่า เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน ตลอดจนนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยร่วมกันสืบต่อไป
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
14/9/2564