ครูกัลยา มอบทุน “โครงการพี่ใหญ่ให้ยืม” พร้อมขยายผลนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เริ่มต้นที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบทุนสนับสนุนอุปกรณ์ Smart Devices โครงการ “พี่ใหญ่ให้ยืม” แก่โรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” และมอบหนังสือเรียนเสริมทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แก่โรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน และใช้การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองบางกลุ่ม ที่ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อใช้ในการเรียนของลูกหลานตนเองได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เปิดโครงการ “พี่ใหญ่ให้ยืม” หนุนทุกภาคส่วนช่วยแบ่งปัน Smart Device ให้นักเรียน Learn From Home ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยแก้ปัญหาผู้ปกครอง โดยวันนี้ได้มอบทุนสนับสนุนอุปกรณ์ Smart Devices มูลค่า 200,000 บาท ในโครงการ “พี่ใหญ่ให้ยืม” ให้กับโรงเรียนสีคิ้ว “สวัสดิ์ผดุงวิทยา” อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ของนักเรียน
การศึกษาสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนตลอดเวลา ครูและผู้บริหารสามารถปรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบอย่างมีความสุขและสนุกสนาน สิ่งสำคัญคือนักเรียนทุกคนต้องมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะได้มาจากการเรียน Coding ที่เหมาะสมตามวัยตั้งแต่ระดับอนุบาล ควบคู่ไปกับการเรียน STI วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเตรียมนักเรียนสู่ศตวรรษที่ 21 ตลอดจนหวังให้เด็กไทยเมื่อเรียน Coding ในระดับสูงแล้ว จะสามารถสร้างแพลตฟอร์มขายต่างประเทศได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ในการจัดการศึกษารูปแบบ STEM ปัจจุบันถือว่ายังไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเป็น STEAM โดยการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ อารมณ์สุนทรีย์ และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย หรือที่เรียกว่า Culture and Value ซึ่งของประเทศไทยนั้นลึกซึ้งและมีความหมายมากที่สุด จะทำให้เราสามารถชนะเครื่องและเทคโนโลยีบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ
จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางไปยังโรงเรียนไทยวัฒนาประชารัฐ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบนโยบายการพัฒนาสมรรถนะการอ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ ได้มีโอกาสไปดูงานของโรงเรียนบ้านหนองแก อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ที่ใช้นวัตกรรมการนำสีมากำหนดขั้นตอนในการอ่านภาษาไทย รวมถึงเทคนิคการออกเสียงแบบ “Phonic” และอาศัยการสะกดคำภาษาอังกฤษที่มีความคล้ายภาษาไทย โดยใช้สีและสัญลักษณ์ตัวเลขมาช่วยแยกประเภทตัวอักษร พร้อมทั้งใช้ภาพสื่อความหมาย ทำให้นักเรียนสามารถอ่าน-เขียน แปลศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นคำบัญชีพื้นฐานได้กว่า 1,200 คำ วันนี้จึงนำหนังสือเรียนเสริมทักษะภาษาไทยและภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าวมามอบให้กับผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 4 (อ.สีคิ้ว) จำนวน 1,700 ชุด โดยหวังว่าหนังสือชุดนี้จะทำให้เด็กสามารถอ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกได้ภายใน 1 ปี จนพัฒนาไปถึงการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการอ่านเป็นต้นทางของการเรียนรู้
ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน
4/3/2565