คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล

คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลร่วมประชุมขับเคลื่อนแผนแก้ปัญหาชายแดนใต้ ปี 2560 กับหน่วยงานในกลุ่มภารกิจงานที่ 4 (ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม)


คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ “รัฐบาลส่วนหน้า” ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดประชุม 5 หน่วยงานหลัก ในกลุ่มภารกิจงานที่ 4 (ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม) เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และร่วมวางแผนขับเคลื่อนการบริหารงานปีงบประมาณ 2560 โดยเน้นการประสานงาน-เชื่อมโยงเป้าหมายและกลยุทธ์-สร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน-ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีฯ พร้อมทั้งย้ำให้ร่วมกันสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่แนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2559 ที่ห้องประชุมกระทรวงวัฒนธรรม : คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าคณะฯ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าคณะฯ และ 5 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560

ที่ประชุมได้รับทราบ สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในภาพรวมของกลุ่มภารกิจงานที่ 4 (งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม) ซึ่งดำเนินการได้บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเป้าหมายสถาบันการศึกษากลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้รับการยกระดับคุณภาพตามนโยบายรัฐ และเป้าหมายประชาชนในพื้นที่ สามารถดำเนินวิถีชีวิตตามประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นทุกระดับ ทั้งผลการทดสอบ O-NET อิสลามศึกษา (I-NET) การทดสอบวิชาชีพ (V-NET) ส่งผลให้ประชาชนและชุมชนมีความพึงพอใจเกี่ยวกับการส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐและชุมชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ แผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่มภารกิจงานที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ดังนี้

1. กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกรอบแนวทางการแก้ไขและพัฒนาการศึกษาใน จชต.ไว้ 7 จุดเน้น คือ การรักษาความปลอดภัย, การพัฒนาคุณภาพการศึกษา, การเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา, การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และการมีงานทำ, การศึกษาเพื่อความมั่นคง, การสร้างการรับรู้ และการบริหารจัดการ ภายใต้งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรจำนวน 2,777 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการรองรับจำนวน 128 โครงการ

2. กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ด้าน คือ การส่งเสริมการใช้มิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนา จชต. ในทุกด้าน และการส่งเสริมอัตลักษณ์และสังคมพหุวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับบริบทสังคมของ จชต. โดยมีแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนฯ ใน 4 หน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา กรมศิลปากร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ภายใต้งบประมาณที่กระทรวงวัฒนธรรมได้รับจำนวน 79 ล้านบาท มีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการชุมชนศรัทธา (กัมปงตักวา) โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้ โครงการเงินอุดหนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น

3. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  มีโครงการตามยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาใน จชต. โดยได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้าใจในสถานศึกษาเป้าหมายเพื่อลดความหวาดระแวง การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ภายใต้บริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม โครงการอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุนและอุดหนุนองค์กรศาสนาอิสลามประจำจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ประธานกรรมการอิสลามฯ 5 คน, กรรมการอิสลามประจำจังหวัด 145 คน, อิหม่าม 2,464 คน, คอเต็บ 2,464 คน, บิหลั่น 2,464 คน, กรรมการอิสลามประจำมัสยิด 2,464 คน รวมทั้งเงินอุดหนุนในการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการฯ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  มีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมศาสนาและศิลปวัฒนธรรม และโครงการพัฒนาศาสนสถาน โดยมุ่งเน้นการสร้างและขยายโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา

5. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เน้นเป้าหมายการดำเนินงาน เช่น การเสริมสร้างให้สถาบันและกิจการทางพระพุทธศาสนามีความมั่นคงยั่งยืน การส่งเสริมการจัดการศึกษาสงฆ์เพื่อพัฒนาให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อผลิตและพัฒนาศาสนทายาทที่เปี่ยมปัญญาพุทธธรรมและร่วมสร้างสังคมพุทธธรรมที่มีความเข้มแข็ง เป็นต้น

สรุปผลลัพธ์ที่ต้องการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2560

  • นักเรียนในระบบการศึกษาที่ออกกลางคันและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ได้รับโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น

  • การจัดการศึกษาในสถานศึกษากลุ่มเป้าหมาย ทั้งของรัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวนโยบายที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพการศึกษา

  • นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกระบบการศึกษา

  • ประชาชนในพื้นที่ จชต.ทุกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันบนความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการบูรณาการ กลุ่มภารกิจงานกลุ่มที่ 4 โดยเน้นให้มีการประสานงาน-เชื่อมโยงเป้าหมายและกลยุทธ์-สร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน-ภายใต้การบริหารจัดการที่ดีฯ พร้อมทั้งเน้นการสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่แนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน โดยให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเชื่อมโยงประสานการทำงานและข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง “ศึกษาธิการส่วนหน้า” ซึ่งย้ายมาอยู่ในพื้นที่เดียวกับ “สำนักงาน คปต.ส่วนหน้า” ภายในค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย พล.ร.15 จ.ปัตตานี เพื่อให้เกิดการประสานงานเป็นไปด้วยความใกล้ชิดและรวดเร็ว นำไปสู่การบูรณาการการทำงานอย่างแน่นแฟ้นตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า นอกจากได้เน้นย้ำแนวทางบูรณาการงานที่เข้มแข็งของ 7 กลุ่มภารกิจงาน ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเร่งรัดขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยมิติการศึกษาจะต้องพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ภายใต้การร่วมมือกันของทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็ง


นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
27/10/2559