“การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคล เพื่อเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เมื่อบ้านเมืองประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศชาติก็ย่อมทำได้โดยสะดวกราบรื่น ได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระราชทานแก่ครูใหญ่โรงเรียนและนักเรียนที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการประจำปีการศึกษา 2518 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2520 บ่งบอกว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยทรงเห็นว่าการให้การศึกษานั้น ไม่ว่าจะเป็นในระดับใดก็ตาม ย่อมเป็นหนทางให้คนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี อันกอปรด้วยความรู้และคุณธรรมได้ทั้งสิ้น
แต่การพัฒนาคนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์นั้น ไม่สามารถใช้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้กับผู้เรียนไปพร้อมกันด้วย ที่เรียกว่า “การให้บริการทางการศึกษา” โดยสถาบันการศึกษาส่วยใหญ่ให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว โดยอยู่ในรูปของการบริการห้องสุมด การบริการโสตทัศนศึกษา การบริการคอมพิวเตอร์ และการบริการทางการศึกษา สำหรับลำดับที่ 1-3 นั้น เห็นชัดว่าเป็นการใช้บริการที่มีลักษณะของการยืม-ใช้อุปกรณ์หรือทรัพยากร ส่วนลำดับที่ 4 นั้น เป็นลักษณะของการให้บริการในรูปของการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยวางแผนการศึกษาให้กับผู้เรียน หรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษา การรักษาพยาบาล และเรื่องทั่วๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ การให้บริการทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานการศึกษาไม่ควรละเลยหรือมองข้ามแต่กลับต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเริ่มตั้งแต่การวางแนวนโยบายในการบริหาร โดยเฉพาะการให้บริการทางการศึกษานั้น จึงจำเป็นที่ผู้บริหารต้องมีการวางแผนหรือเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องบุคลากร เครื่องมือ/อุปกรณ์ และสิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาถึงความต้องการของผู้เรียน เนื่องจากผู้เรียนมีความแตกต่างกันทั้งในระดับการศึกษา ลักษณะของหลักสูตรหรือสาขาวิชา อาจทำให้ผู้เรียนมีความต้องการที่แตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนในฐานะที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการให้บริการแก่นักศึกษามีความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วผู้เรียนโดยส่วนใหญ่ต้องการให้หน่วยงานจัดบริการในเรื่องต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและเพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการให้บริการไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่มีความต้องการในระดับมากอาทิ เช่น
การให้บริการห้องสมุด
“การให้บริการห้องสมุด” ผู้เรียนส่วนใหญ่เห็นว่าควรมีการจัดหาหนังสือสิ่งพิมพ์หรือวารสารต่างๆ ให้ครบถ้วนในทุกสาขาวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่มีเนื้อหาหรือใกล้เคียงกับหลักสูตรที่สถาบันการศึกษานั้นเปิดสอน ขณะเดียวกันก็ต้องมีจำนวนให้เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ เช่น หนังสือหรือเอกสารบางเรื่องที่ผู้เรียนต้องใช้ประกอบการเรียนควรมีให้บริการ 2-3 ฉบับ นอกจากนี้ อุปกรณ์อื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูล (OPAC) ควรจัดสรรให้เพียงพอ และแยกประเภทของการใช้บริการให้ชัดเจน เช่น สืบค้นหนังสือที่มีภายในห้องสมุด หรือ สืบค้นภายนอก เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้บริการด้วยเช่นกัน
การให้บริการคอมพิวเตอร์
“การใช้บริการคอมพิวเตอร์” นับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งผู้เรียนต้องการให้จัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับจำนวนผู้เรียนและเห็นว่าควรปรับเวลาการให้บริการให้สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนที่สำคัญควรให้บริการนอกเวลาราชการเพิ่มด้วย เนื่องจากเวลาทำการปกตินั้น ผู้เรียนต้องศึกษารายวิชาในห้องเรียนทำให้ไม่สามารถใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวได้ นอกจากนั้น ควรเพิ่มโปรแกรมการใช้งานให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และปรับระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีความรวดเร็วมากขึ้นด้วย
การให้บริการโสตทัศนศึกษา
“การให้บริการโสตทัศนศึกษา” โดยส่วนใหญ่ ผู้เรียนจะใช้บริการหน่วยนี้สำหรับประกอบการเรียน เช่น การนำเสนอผลงาน สอบวิทยานิพนธ์ หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียน ซึ่ง ส่วนใหญ่เห็นว่า การใช้บริการในหน่วยนี้มีข้อจำกัดมาก เช่น ไม่สามารถยืมใช้นอกสถานที่ได้ หรือมีจำนวนไม่เพียงพอ
การให้บริการทางการศึกษา
“การให้บริการทางการศึกษา” สำหรับการบริการประเภทนี้ เป็นการให้บริการที่ไม่มีตัวตน แต่มีลักษณะของการบริการแก่ผู้เรียนในเรื่องของการให้คำแนะนำ ชี้แจง หรือการขอเอกสารต่างๆ ซึ่งความต้องการของผู้เรียนมีความแตกต่างจาก 3 ประเภทที่กล่าวมา คือ ต้องช่วยให้คำแนะนำหรือชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียน เช่น การเลือกเรียนวิชาบังคับหรือวิชาเลือกของหลักสูตร ช่วงเวลาของการลงทะเบียน การขอรับทุนจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก การขอเอกสารต่างๆ อาทิ หนังสือรับรอง หนังสือจากหน่วยงานเพื่อเก็บข้อมูลประกอบการเรียน หรือวิทยานิพนธ์ การขอใช้บริการรักษาพยาบาล การขอคำแนะนำเรื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนาการศึกษา
การเปลี่ยนแผนการเรียน เป็นต้น รวมถึงต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาและการประกอบอาชีพ โดยใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์อื่นนอกเหนือจากกระดานบอร์ด เช่น อินเตอร์เน็ต เพราะทำให้ผู้เรียนได้รับข่าวสารที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
สรุป
การให้ผู้เรียนได้รับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่คาดหวังว่าจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและเป็นกำลังสำคัญของประเทศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ฉันใด การให้บริการทางการศึกษาที่ไม่ถูกที่ถูกเวลาและมีระดับ หรือปริมาณที่ไม่เพียงพอ ก็ไม่อาจช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาจึงควรหันกลับมามองว่า ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการทางการศึกษาแก่ผู้เรียนในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด