ศึกษาธิการ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากที่ได้มีข้อห่วงใยเรื่องการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ได้ออกเป็นประกาศ ศธ.ตามการเสนอของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้หารือกับองค์กรที่มีสถานศึกษาในสังกัด พบว่าการนำเอาการทดสอบกลางมาใช้ในระบบการศึกษา เป็นการดำเนินงานที่มีแนวความคิดสอดคล้องกัน เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาทราบว่าการจัดการเรียนการสอนในภาพรวมทั้งประเทศมีผลสัมฤทธิ์อย่างไร และจะเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน และครูอาจารย์
ในส่วนของ สทศ. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 เป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่ ศธ.มีการหารือในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.ศธ. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โดยมีแนวความคิดในขณะนั้นว่าจะให้ใช้ผลประเมินระดับสถานศึกษาต่อผลประเมินระดับชาติจาก 80 : 20 ให้เป็น 70 : 30 ในปีการศึกษา 2556 และ 60 : 40 ในปีการศึกษา 2557 และตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ให้ปรับสัดส่วนเป็น 50 : 50 แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทราบรายละเอียดจากปัญหาเรื่องการเวียนหนังสือ ในการหารือกับ สพฐ.มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะมีการนำเอาประกาศดังกล่าวไปศึกษา เพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มน้ำหนักข้อสอบกลางสำหรับนักเรียนชั้น ป.2 ป.4 ป.5 ม.1 และ ม.2 โดยใช้ข้อสอบกลางที่จัดทำโดย สพฐ. ร้อยละ 15 และข้อสอบที่จัดทำโดยสำนักงานเขตพื้นที่ร่วมกับสถานศึกษา ร้อยละ 15 รวมเป็น ร้อยละ 30 การจัดสอบแบบนี้ไม่ได้ทำให้มีการสอบมากขึ้น เพียงแต่เพิ่มน้ำหนักสำหรับการสอบ O-Net ของนักเรียนที่จะจบช่วงชั้นปี เท่ากับว่าเป็นการใช้ข้อสอบกลางในการสอบปลายปีแทนการใช้ข้อสอบของสถานศึกษา เพื่อจะได้ทราบถึงมาตรฐาน ผลสัมฤทธิ์ของสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา
การวัดผลจากการใช้ข้อสอบกลางไม่ได้มุ่งที่จะทำให้เกิดแรงกดดัน แต่ต้องการให้ผู้จัดการศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจ นำไปสู่การพัฒนา และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น สำหรับสถานศึกษาที่มีลักษณะหรือเงื่อนไขพิเศษ ก็ต้องมากำหนดเป้าหมายในการวิเคราะห์ ตีความผลการสอบ เช่น สถานศึกษาที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ จำเป็นต้องวัดความรู้ภาษาไทยเหมือนสถานศึกษาทั่วไป แต่ในการตีความและการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา จะต้องหาทางแก้ปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับสถานศึกษา คือ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาไทยสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง เป็นต้น
ในขั้นตอนต่อไป จะมีการนำเรื่องที่ สพฐ.หารือกับองค์กรที่มีสถานศึกษาในสังกัด และประกาศของ สทศ.เวียนให้ทราบโดยทั่วกันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และจะมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ทั้งเรื่อง O-Net และการทดสอบกลางในที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ เห็นว่าควรจะมีการจัดเสวนาเพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของระบบการทดสอบวัดผลของระบบการศึกษาของประเทศไทย การทดสอบวัดผลที่ สพฐ.ดำเนินการอยู่ จะมีผลทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลสอบ O-Net จะโยงไปถึงการทดสอบวัดผลที่อิงมาตรฐานนานาชาติได้อย่างไร ในการดำเนินการต่างๆ ก็จะทำให้เชื่อมโยงระหว่างผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนเข้ามาร่วมกัน ซึ่งในคณะกรรมการของ สทศ.มีผู้แทนองค์กรหลักอยู่แล้ว แต่การทำข้อสอบกลางของ สพฐ.จะมีการเชิญผู้แทนจาก สทศ. คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และผู้แทนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าร่วมตลอดกระบวนการ
ขณะนี้ผลสอบ O-Net ประกาศออกมาแล้ว แต่มีข้อมูลน้อยมาก จึงขอให้ สทศ.และ สพฐ.ทำการวิเคราะห์เบื้องต้น เพื่อชี้แจงต่อสังคมให้ทราบทั้งในแง่มุมของ สทศ.และ สพฐ. เมื่อมีรายละเอียดถึงผลการสอบของกลุ่มสถานศึกษาขนาดใหญ่ สถานศึกษาขนาดกลาง และสถานศึกษาขนาดเล็ก ผลการสอบของภูมิภาค ก็จะนำเอาผลสอบนั้นมาวิเคราะห์ แล้วนำมาเสนอต่อสื่อมวลชนและสังคมให้ทราบต่อไป เพื่อให้เกิดการนำเอาผลสอบมาเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา การปรับปรุงการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอน
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
19/3/2557