การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education)





การศึกษาพหุวัฒนธรรม
(Multicultural Education)


ดร. อธิปัตย์ คลี่สุนทร*







       สารานุกรมสำหรับเยาวชนไทย ฉบับที่ 12 พ.ศ.2550 กล่าวถึง “การศึกษา” ไว้ว่า “คนเราต้องรู้เรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง รู้เรื่อง พ่อ แม่ พี่น้องในบ้านของเรา รู้จักเพื่อนบ้านของเรา รู้เรื่องโรงเรียนของเรา และต้องรู้จักหลายอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หญ้า สัตว์เลี้ยง สัตว์ที่เห็นอยู่ในบริเวณบ้าน และบริเวณใกล้เคียงบ้าน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว เมฆ ฝน ถนนหนทาง รถชนิดต่าง ๆ ที่เราเห็นบนถนน และที่เราใช้อยู่ ทุกวันเหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องเรียน เช่น การอ่านออกเขียนได้ ทำเลขได้ รู้ว่าทำไมฝนจึงตก วิชาเหล่านี้ทำให้เข้าใจเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น เฉลียวฉลาด คิดได้คล่อง ทำงานเป็น จิตใจกระปรี้กระเปร่า คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงได้ดี







       เราจะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้โดยการสังเกต รู้จักพิจารณาดูสิ่งต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ไต่ถามผู้ใหญ่ซึ่งมีความรู้มากกว่าเรา จำสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นได้ ได้ยิน ได้ฟัง และจับต้องได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้นั้นมีมากมายนัก ยิ่งเติบโตขึ้นก็ยิ่งต้องเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ให้มากขึ้นตามวัย” (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2550, น.35)







       นักการศึกษาหลายท่าน อาทิ Friedrich Froebel, John Dewey ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้หลายประการ ซึ่งโดยสรุป การศึกษาคือชีวิต การศึกษาคือการพัฒนาบุคลิกภาพ ความเจริญงอกงามในตัวบุคคล เป็นกระบวนการทางสังคม ที่ทำให้คนได้มีการเรียนรู้ และพัฒนาขึ้นไปเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีคุณธรรมสูง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวรวมถึงการพัฒนาทางกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ครบถ้วนทุกด้าน







       คำว่า “วัฒนธรรม” พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติขึ้นใหม่โดยอธิบายในสารานุกรมไทย เล่ม 26 ว่า “คำว่า วัฒนธรรมนี้ได้ผูกขึ้นเพื่อให้มีความหมายตรงกับคำว่า Culture คำว่า Culture ตรงมูลศัพท์หมายความว่า เพาะปลูกให้งอกงามเป็นการแสดงถึงความเจริญงอกงามซึ่งเปรียบได้กับการเพาะปลูกพันธ์ไม้ให้งอกงาม ผลิดอกออกผล เพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ในอันจะใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้ ไม่ว่าในร่างกาย เช่น การใช้บริโภคหรือใช้ประกอบทำสิ่งของเครื่องใช้ที่มนุษย์จะใช้ได้ หรือทางใจ เช่น การชมในฐานที่เป็นสิ่งเจริญตาเจริญใจ เป็นต้น และการเพาะเลี้ยงสัตว์ให้เจริญงอกงามก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงรวมอยู่ในภาคความคิดของคำว่า Culture นี้ด้วยเหมือนกัน วัฒนธรรม หมายความถึงความเจริญงอกงามดังที่กล่าวมานี้”(ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, น.16525)







       พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่า “พหุ” คือ มาก (น.775) และให้ความหมายของ “วัฒนธรรม” ว่า หมายถึงสิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา (น. 1058)







       คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมาย
การศึกษาพหุวัฒนธรรมไว้ว่า หมายถึง การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ครอบคลุมเนื้อหาสาระ
และความคิด ความเชื่อของกลุ่มชนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้ว่า
ในสังคมชุมชนที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ไม่มีชนกลุ่มน้อยหรือผู้พูดภาษาถิ่น แต่หลักสูตรและ
การสอนความเชื่อมโยงถึงความรู้และความสัมพันธ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนพื้นถิ่น เช่น
ประเพณี ภาษาความเชื่อ การทำมาหากิน และวิถีชีวิต เพื่อสร้างความเข้าใจดีต่อกันและ
อยู่ร่วมกันอย่างสันติก็ยังมีความจำเป็นอยู่







       ในช่วงปี พ.ศ. 2550 เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ในโลกหลายประการ โดยเฉพาะเป็นยุคที่การคมนาคมขนส่ง การติดต่อสื่อสาร เจริญก้าวหน้ากว่ายุคที่ยังใช้สัตว์เป็นพาหนะสำหรับการดำเนินการดังกล่าวมาก ผู้คนยุคนี้ เดินทางไปมาหาสู่กันโดยยานพาหนะที่ทุ่นแรง รวดเร็ว เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์โดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เรือ เรือเดินสมุทร เครื่องบินโดยสาร การขนส่งสินค้า เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทำได้โดยใช้ยานพาหนะเช่นเดียวกัน สำหรับการส่งข่าวสาร ข้อมูลสารสนเทศ ส่วนใหญ่จะดำเนินการสองรูปแบบ คือ แบบที่ยังจัดส่งในรูปกระดาษ จดหมาย สิ่งพิมพ์ หนังสือ วารสาร เอกสาร หรือส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet) ระบบโทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone) หรือระบบโทรสาร (Facsimile) เป็นต้น







       ลักษณะความเปลี่ยนแปลงทีมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและ ความเป็นอยู่ของมนุษย์เรื่องในลักษณะข้างต้น ก่อให้เกิดการอพยพย้ายถิ่ถาวรเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะพบนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่างภาษาและวัฒนธรรมเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อพักผ่อนหรือเพื่อหาความรู้ ประสบการณ์ ตามแหล่งท่องเที่ยวของแทบทุกประเทศด้วย ดังนั้น เความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา และต่างวัฒนธรรม นับเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่จะพบเห็นได้โดยทั่วไป ในแทบทุกสังคม







       การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) ได้รับความสนใจมากขึ้นจนเห็นได้ชัด ในช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปบางประเทศ สืบเนื่องจากการรับประชากรจำนวนมากจากประเทศอื่นให้สามารถย้ายถิ่นฐานอย่างถาวร ประชากรที่อพยพย้ายถิ่นดังกล่าวต้องเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติใหม่ แต่ประชากรกลุ่มดังกล่าวก็มิได้ทอดทิ้ง ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนาเดิม แม้ระยะแรก ๆ ประชากรเจ้าของประเทศ จะไม่ยอมรับเชื้อชาติ และวัฒนธรรมอื่น แต่ต่อมาเมื่อมีการให้การศึกษาในเรื่องสิทธิของมนุษยชน (Human Rights) ของแต่ละบุคคลมากขึ้น ประชากรผู้อพยพย้ายถิ่นก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้เรื่องของพหุวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ไม่เพียงแต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในทวีปยุโรปเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ทุกทวีปทั่วโลก อาจจะกล่าวได้ว่า แทบทุกประเทศในโลกจะประกอบด้วยชนที่อยู่ดั้งเดิม ชนกลุ่มน้อยและหรือกลุ่มอพยพย้ายถิ่นที่มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา และความเป็นอยู่ต่างกัน ประกอบอาชีพ อยู่อาศัย และเป็นพลเมืองของอีกประเทศหนึ่งเป็นการถาวร อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันจากที่อยู่อาศัยเดิม แต่ก็ยังสามารถเดินทางไปเยี่ยมกันหรือส่งข่าวถึงกันโดยสะดวก







       การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) จึงหมายถึงกระบวนการให้การศึกษาระดับขั้นพื้นฐานที่สถานศึกษาจะต้องช่วยให้เด็ก เยาวชน ประชาชนเข้าใจ ไม่รังเกียจ และยอมรับซึ่งความแตกต่างในเรื่องของความเป็นชนกลุ่มน้อย ด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ลัทธิความเชื่อ ความเป็นอยู่ เพศ(โดยเฉพาะสตรีในบางประเทศ) ที่อาจจะไม่ใด้รับความเท่าเทียมกันในบางเรื่อง ทั้งนี้ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และชุมชน ต้องหาวิธีการให้เด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป เข้าใจ และค่อย ๆ ซึมซับ ยอมรับความแตกต่างดังกล่าว สถานศึกษาส่วนใหญ่จะกำหนดการศึกษาพหุวัฒนธรรม ไว้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เสริมสร้างความเข้าใจดังกล่าวนั้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนของชนกลุ่มน้อยได้แสดงออก เพื่อให้เด็กกลุ่มใหญ่ได้เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อที่มีหลากหลาย ถือเป็นการให้การศึกษาที่มีมุมมองกว้างขวาง แตกต่างไปจากเดิมที่เน้นวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของกลุ่มประชาชนกลุ่มใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว







       การศึกษาพหุวัฒนธรรมที่จัดขึ้นในสถานศึกษาระดับพื้นฐานและรวมถึงในการศึกษาระดับอุดมศึกษา จะบ่งบอกลักษณะเฉพาะ ดังนี้
       1. ช่วยลดความรู้สึกเหยียดหยามเรื่องเชื้อชาติ หรือชนชาติและศาสนา
       2. จำเป็นมากสำหรับการศึกษาพื้นฐานที่ควรต้องบรรจุไว้ในหลักสูตร
       3. เป็นเรื่องที่เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกคน ควรต้องให้ความสนใจ เข้าใจ และตระหนักความสำคัญ
       4. เป็นการศึกษาที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม มองทุกคนในสถานภาพที่เท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ ในการดำเนินชีวิตในสังคมนั้น
       5. เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในชุมชน ในสังคม ได้อย่างมีสันติสุข
       6. ครู อาจารย์ที่จะสอนเรื่องนี้จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และมีกระบวนการที่แยบยลที่จะสอนหรือให้ความรู้เรื่องนี้ หรือสอนแบบบูรณาการกับวิชาอื่น
       7. ช่วยให้ทุกคนในสังคมเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่นำเรื่องความแตกต่างของวัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเชื่อไปใช้ในทางที่ผิด







       ประเทศไทยมีกลุ่มประชากรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีสถานะเชิงพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่อาศัย หรือจังหวัดที่เป็นเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดในเขตภาคกลาง นอกจากนั้นในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ ที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งทุนหรือร่วมทุน จากบริษัทหรือกลุ่มบุคคลจากต่างประเทศ ก็จะมีประชากรกลุ่มหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่มีภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างจากคนไทย พักอาศัยอยู่







       ในพื้นที่ที่เป็นลักษณะพหุวัฒนธรรมดังกล่าว การจัดการศึกษาในสถานศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย จะต้องเป็นกระบวนการที่ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง และชุมชนเข้าใจ ยอมรับความแตกต่างของเด็กและเยาวชนต่างวัฒนธรรม เคารพสิทธิของแต่ละบุคคล กำหนดหลักสูตรและจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมสนับสนุนการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันไม่กีดกันกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นชนกลุ่มน้อย







       ในพื้นที่เมืองเขตอุตสาหกรรมหรือมีการลงทุนทางธุรกิจจากต่างประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จะมีสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนนานาชาติ ที่หลักสูตรจะเป็นหลักสูตรนานาชาติ มีผู้บริหาร ครูอาจารย์ บุคคลากรทางการศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ ทำงานร่วมกับครูอาจารย์ไทย สถานศึกษานานาชาติเหล่านั้น หรือสถานศึกษาที่อยู่ติดพรมแดน จะเป็นแหล่งเรียนรู้และมีกระบวนการที่ยอมรับพหุวัฒนธรรม มองเห็นความสำคัญของ วัฒนธรรม ภาษา ความเชื่อ ศาสนาของนักเรียนแต่ละคน และที่สำคัญคือ เห็นคุณค่าของความแตกต่าง(Diversity) และพยายามที่จะใช้กระบวนการทางการศึกษา หล่อหลอม กล่อมเกลาให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาทุกด้านอย่างเต็มศักยภาพ บนพื้นฐานของความแตกต่างเหล่านั้น เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นพลเมืองดีมีคุณธรรมและมีคุณค่าต่อสังคมที่อยู่อาศัยได้ในที่สุด







      การศึกษาพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) นอกจากจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในการศึกษาระดับพื้นฐาน แล้วยังเป็นสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยจำนวนมากจัดเป็นรายวิชาหรือสาขาวิชาเพื่อศึกษาเจาะลึกไปยังวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชนเผ่า ชนกลุ่มน้อย ที่รวมตัวกันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ หรือแยกกลุ่มอยู่ห่างจากสังคมใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของแต่ละประเทศ บางสถาบัน จัดเรื่อง สตรีศึกษา (Women Studies) ซึ่งเน้นความสำคัญ สถานะ บทบาทของสตรีในครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพหุวัฒนธรรมด้วย







       โดยสรุป การศึกษาพหุวัฒนธรรม(Multicultural Education) เป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการยอมรับความแตกต่าง ทางภาษา ขนบประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และวิถีชีวิต บนพื้นฐานของการยอมรับสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของแต่ละบุคคล โดยให้โอกาสชนกลุ่มน้อยซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ได้รับการพัฒนาทุกด้าน เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม ซึ่งในท้ายที่สุดการศึกษาพหุวัฒนธรรมจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยนำไปสู่ความเป็นสังคมที่มีความสมบูรณ์ มีคุณค่าและความสวยงามบนความแตกต่าง หลากหลาย มีศักยภาพ และสามารถนำความแตกต่างมาสร้างความเจริญก้าวหน้า ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน






เอกสารอ้างอิง


บรรจง ฟ้ารุ่งสาง พหุวัฒนธรรมศึกษาชายแดนภาคใต้:แนวทางสู่การปฏิรูปการศึกษา วารสารศึกษาศาสตร์ 
       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 มกราคมมิถุนายน 2551

ราชบัณฑิตยสถาน (2546) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพมหานคร: บริษัท
       นานมีพับลิเคชั่น จำกัด

ราชบัณฑิตยสถาน (2549) สารานุกรมไทย เล่ม 26 กรุงเทพมหานคร: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์

วารุณี ภูริสินสิทธิ์ (แปล) (2007) ครอบครัวในความหมายใหม่: การค้นหาชีวิตแบบใหม่ กรุงเทพมหานคร:
       ซีเอ็ดยูเคชั่น

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โครงการตู้หนังสือเฉลิมพระเกียรติ (2550) สารานุกรม
       สำหรับเยาวชน ฉบับที่ 12
กรุงเทพมหานคร: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์

สุมน อมรวิวัฒน์ (2550) องค์ ๔ ของการศึกษาไทย สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ
       พระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ สกสค.

IBRD/ The World Bank (2007) Building Knowledge Economies: Advanced Strategies for
       Development
. Washington, D.C.: The World Bank.

Banks, J.A. (1994) An Introduction to Multicultural Education. Boston: Allyn and Bacon.

Robotham, D. (2005) Culture, Society and Economy: Bringing Production Back in.
       London: SAGE.

Schultz, F. (2002) (Ed.) Multicultural Education 02/03. U.S.A.: McGraw Hill

Slevin, J. (2003) The Internet and Society. Malden, MA: Blackwell Publishing.

Wongboonsin, K. and Guest, P. (2005) The Demographic Dividend: Policy Options for Asia.
       Thailand: Chulalongkorn University Printing House.







* อธิปัตย์ คลี่สุนทร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) ด้าน International Development Education จาก Florida State University เคยรับราชการ เป็นครูโรงเรียนวัดสว่างวงษ์ โรงเรียนการช่างชัยนาท ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และ เป็นอาจารย์อาวุโส College of Internet Distance Education, Assumption University







ลงพิมพ์ใน:
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (2552). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์ สกสศ.