การกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนับเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษามาตั้งแต่ในอดีตและยิ่งมีบทบาทมากยิ่งขึ้นปัจจุบันและอนาคต อันเนื่องมาจากนโยบายกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้กำหนดไว้ในกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 80(4) บัญญัติให้ส่งเสริมสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดและมีส่วนร่วมในการจัดมาตรา 289 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรมและฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้น และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 กำหนดให้กระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น รวมทั้งให้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประสานส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัด

สำหรับพระราชบัญญัติกำหนดแผนขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาและให้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการให้บริการสาธารณะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีความครอบคลุมถึงการถ่ายโอนภารกิจการศึกษา

สภาพปัจจุบันของการจัดการศึกษาท้องถิ่น

ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นจำนวน 7,853 แห่ง ประกอบด้วย อบจ.75 แห่ง อบต.6,157 แห่ง เทศบาล 1,619 กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง และเมืองพัทยา 1 แห่ง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียง 6.3 ของนักเรียนทั้งประเทศ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียง 2 แห่ง เท่านั้น คือ กรุงเทพมหานคร มีวิทยาลัยแพทย์สาสตร์และวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ และเทศบาลนครปฐมซึ่งเปิดสอนถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สำหรับด้านคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบแรก (พ.ศ.2544-2548) พบว่า สถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคุณภาพระดับดีสูงกว่าในภาพรวมทั้งประเทศและสูงกว่าสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเกือบทุกมาตรฐาน

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 96.3 ที่ยังไม่ได้จัดการศึกษาในระบบนั้น ได้มีการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น

 



  1. จัดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

  2. การส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ ศูนย์กีฬาและนันทนาการ เป็นต้น

  3. การใช้ความรู้และการฝึกอบรมอาชีพในสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นและสังคม

  4. การจัดอบรมและกิจกรรให้ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ เช่น สุขอนามัย ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกจากจะมีบทบาทในการจัดการศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีบทบาทในกรณีมีส่วนร่วมส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของรัฐในด้านต่างๆ เช่น ด้านงบประมาณและทรัพย์สิน ด้านวิชากร เช่น การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน การระดมผู้รู้ในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมเป็นกรรมการสถานศึกษา กรรมการเขตพื้นที่การศึกษา กรรมการที่ปรึกษาหรือกรรมการอื่นๆ

จากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนไม่น้อยที่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น จนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีวิสัยทัศน์และเห็นความสำคัญของการศึกษา มีการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง และมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางการศึกษา อย่างไรก็ตามก็ยังพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนหนึ่งยังมีปัญหาการบริหารจัดการศึกษา เช่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา บุคลากรด้านการศึกษาไม่เพียงพอ ขาดการนิเทศ กำกับติดตามและประเมินผลการศึกษา ขาดความชัดเจนในเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพของบุคลากรในสำนักงาน/กองการศึกษาและขาดความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการถ่ายโอนสถานศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความล่าช้าในการถ่ายโอนอันเนื่องมาจากมีขั้นตอนมากและซับซ้อน แนวนโยบายการถ่ายโอนไม่ชัดเจน ขาดกสนเตรียมความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขาดการประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อม บุคลากรทางการศึกษา กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายโอน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนหนึ่งบังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ด้านการศึกษา

เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกในการกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จะเห็นได้ว่ามีทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค ดังนี้

ด้านจุดแข็ง

อปท.หลายแห่งมีทรัพยากรเพียงพอที่จะสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่น ประกอบกับ อปท.มีพื้นที่ขนาดเล็กและมีโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลไม่มาก จึงสามารถสนับสนุนการศึกษาได้อย่างเต็มที่ อปท.สามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลาย และวิถีชีวิตของท้องถิ่นได้ดีกว่า เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และอปท.สามารถมีจุดเน้นด้านการศึกษาที่เฉพาะเจาะจงได้ทั้งในเชิงกลุ่มเป้าหมายและในเชิงเนื้อหา รวมทั้งจุดเน้นในเชิงรูปแบบการจัดการศึกษาซึ่งสามารถกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน สามารถสร้างเอกลักษณ์และริเริ่มนวัตกรรมทางการศึกษาได้ นอกจาก อปท.ยังมีพันธะกับประชาชนสูงทั้งพันธะทางสังคมและการเมือง








ด้านจุดอ่อน

ผู้บริหาร อปท.สมาชิกสภาท้องถิ่นและบุคลากรท้องถิ่นส่วนหนึ่งยังไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาและไม่เข้าในในบทบาทหน้าที่ด้านการศึกษา และมักจะขาดความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษา เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร อปท.ส่วนหนึ่งที่รับถ่ายโอนสถานศึกษายังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ด้านการศึกษา เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการถ่ายโอน อปท.ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนศึกษานิเทศก์ และขาดการนิเทศอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้สถานศึกษาของ อปท.ยังมีคุณภาพและมารฐานการศึกษาไม่ทัดเทียมกัน เนื่องจาก อปท.มีศักยภาพและความพร้อมแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีทรัพยากรจำกัด

ด้านโอกาส

นโยบายกระจายอำนาจการจัดการศึกษา ซึ่งได้กำหนดไว้ในกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และพระราชบัญญัติการศึกษากำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาและได้รับการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม

อุปสรรค

กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรค ซึ่งทำให้การบริหารจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความคล่องตัว การแทรกแซงการศึกษาโดยการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารหรือระบบจัดซื้อ จัดจ้าง และการหาประโยชน์จากการศึกษา ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ด้านการศึกษาของ อปท.และบทบาทของประชาชนต่อการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังไม่สามารถมีบทบาทเท่าที่ควรในการประสานส่งเสริม การจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้น การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประสบผลสำเร็จได้จึงจำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการศึกษาและรับถ่ายโอนสถานศึกษา เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้นทั้งทางการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตามความพร้อมเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น เพื่อให้เด็กเยาวชนและประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงสอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายและวิถีชีวิตของท้องถิ่น โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนและภาวะคุมคามที่เป็นอุปสรรค และใช้จุดแข็งและโอกาสที่มีอยู่เพื่อการผลักดันให้การกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

มาข้อมูล : วารสารการศึกษาไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 50 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2551
http://www.onec.go.th
https://www.myfirstbrain.com/room.aspx?Id=76515