ศึกษาธิการ – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ว่าที่ประชุมเห็นชอบแผนบริหารความเสี่ยง ประจำปี 2558 ของกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งรับทราบรายงานงบแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุน ตลอดจนผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกองทุนดังกล่าว
-
เห็นชอบการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี จำนวน 4 โครงการ วงเงินจำนวน 8,116,620 บาท
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการอนุมัติจัดสรรเงินกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1. การพัฒนาระบบการจัดการวิชาโครงงานและประดิษฐ์แบบบูรณาการ สาขาเครื่องกล สู่การจดสิทธิบัตรและเชิงพาณิชย์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการที่บูรณาการสื่อการเรียนการสอนแบบ e-Learning ร่วมกับ e-evaluation, e-management, e-consulting ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี 6 เดือน วงเงินจัดสรร 4,789,120 บาท โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ให้ทุนสนับสนุนในการจัดทำโครงงานแก่นักศึกษาที่ลงทะเบียนวิชาโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ระดับ ปวช.3 และ ปวส.2 สาขาเครื่องกล ในวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา และวิทยาลัยเทคนิคระยอง
2. โครงการจัดทำต้นแบบระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสื่อ eDLTV วิชาภาษาต่างประเทศ บนระบบ eDL-Square ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี วงเงินจัดสรร 2,645,400 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเนื้อหาการเรียนการสอนของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในวิชาภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน มาจัดทำในระบบ e-Learning ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้มีสื่อการเรียนการสอนวิชาต่างประเทศที่จำเป็นภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น เพื่อให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและโรงเรียนขนาดเล็กได้นำระบบ eDLTV วิชาต่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนครูวิชาภาษาต่างประเทศ และพัฒนาศักยภาพภาษาต่างประเทศแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล
3. โครงการพัฒนาและหาประสิทธิภาพชุดสื่อการเรียนรู้และเครื่องวัดไฟฟ้าบนอุปกรณ์พกพาที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อใช้ในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ของนางสาวนิฏฐิตา เชิดชู มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี วงเงินจัดสรร 407,700 บาท
4. โครงการศึกษาผลการเรียนรู้ในความเข้าใจมโนมิติวิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ที่ได้รับการเรียนรู้จากโปรแกรมทดสอบและเยียวยาข้อบกพร่องการเรียนรู้แบบออนไลน์ ของ ดร.พัชรินทร์ ปัญจบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี วงเงินจัดสรร 274,400 บาท
-
เห็นชอบแผนบริหารความเสี่ยง ประจำปี 2558
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต การวิจัย การพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพทั่วประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ
การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนบริหารความเสี่ยง ประจำปี 2558 ของกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ดำเนินการตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission : COSO สามารถจำแนกความเสี่ยงเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1) ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk)
– นโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายและการขับเคลื่อนกองทุนตามแผนที่กำหนด เป็นความเสี่ยงระดับปานกลาง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ ทบทวนปรับปรุงเป้าหมายและแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง
– ศักยภาพหลักขององค์กรขาดความชัดเจน เป็นความเสี่ยงระดับปานกลาง ใช้กลยุทธ์ลดหรือควบคุมในการจัดการความเสี่ยง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือทบทวนวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ ภารกิจ โครงสร้าง อัตรากำลัง และแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน พร้อมทั้งปรับปรุงใช้ชัดเจนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวง รวมทั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น
2) ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operational Risk)
– กองทุนไม่สามารถกลั่นกรองโครงการได้ตามกำหนดเวลา เพราะบุคลากรไม่เพียงพอต่อภาระงานของกองทุน เป็นความเสี่ยงระดับสูง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ สรรหาบุคลากรเพิ่มเติม และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญช่วยกลั่นกรองโครงการ
– บุคลากร/หน่วยงานภายนอกขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพราะการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง เป็นความเสี่ยงระดับสูง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งแผ่นพับ วีดิทัศน์ เว็บไซต์ แฟนเพจ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ
– โครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกองทุนไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่กำหนด เป็นความเสี่ยงระดับสูงมาก โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ จัดระบบการบริหารติดตาม ประเมินผล และนิเทศติดตามโครงการ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อโครงการ
3) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk)
– การสนับสนุนโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินกองทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะกองทุนมีเงินจำกัด เป็นความเสี่ยงระดับสูง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ ขอความร่วมมือกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการเรื่องลดหย่อนภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรเป็นจำนวน 2 เท่าสำหรับเงินบริจาคกองทุน พร้อมประชาสัมพันธ์เพื่อระดมทุน จัดทำแผนหารายได้อย่างเป็นระบบ และแผนระยะยาว
– ข้อจำกัดทางกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ กระทบต่อความสามารถในการบริหารเงินกองทุน เป็นความเสี่ยงระดับปานกลาง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานมีความรวดเร็ว
4) ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Compliance Risk หรือ Event Risk)
– เกิดความผิดพลาดโดยไม่เจตนาในการดำเนินการตามกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเงินกองทุน เป็นความเสี่ยงระดับสูง โดยมีแนวทางในการจัดการความเสี่ยง คือ จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรวบรวมและตรวจสอบประเด็นปัญหาของบุคลากรเพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือลดปัญหา
-
รับทราบรายงานงบแสดงผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของกองทุนฯ จำนวน 194 ล้านบาท
ดังนั้น รวมสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุนทั้งสิ้น 194,214,408.93 บาท
-
รับทราบรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกองทุนฯ
ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกองทุนฯ ซึ่งฝ่ายเลขานุการกองทุน ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตามตัวชี้วัด โดยมีผลการศึกษาวิจัยดังนี้
1) การสำรวจความพึงพอใจ ต่อการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ.2557 ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกองทุน จำนวน 147 ราย ได้แก่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้บริหาร พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ ศธ. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหาร คณะอนุกรรมการ และผู้ขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุน
ผลการวิจัยพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจต่อการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุน (ผ่านคู่มือกองทุน) ร้อยละ 80.12 โดยมีความพึงพอใจในภาพรวมเกี่ยวกับคู่มือกองทุน อยู่ในระดับมาก และมีความพึงพอใจเฉลี่ยทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ ด้านเนื้อหาของคู่มือกองทุน และด้านการออกแบบและการจัดรูปแบบของคู่มือกองทุน อยู่ในระดับมาก
2) การสำรวจความคิดเห็นและความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จำนวน 28 ราย ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหาร/คณะอนุกรรมการกองทุน และผู้ขอรับทุนสนับสนุน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อกองทุนในภาพรวมโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก หากพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด รองลงคือด้านคุณภาพการให้บริการ ด้านกระบวนการ/ขั้นตอนการทำงาน และด้านการอำนวยความสะดวก
โดยมีข้อเสนอแนะที่ควรนำไปใช้ อาทิ ควรมีการประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ประสานขอรับเงินอุดหนุนจาก กสทช.ต่อเนื่องทุกปี จัดสรรเงินทุนให้ทันกำหนดเวลา ควรให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนในประเด็นต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียน การใช้เทคโนโลยีระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ผู้ด้อยโอกาส/ผู้พิการ การสร้างฐานข้อมูลโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น การพัฒนาสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
13/1/2558