กยศ.ยันสัญญากู้ยืมรัดกุมสร้าง ’ระบบสอบข้อมูล’ ผู้กู้

กยศ.ยันสัญญากู้ยืมรัดกุมสร้าง ‘ระบบสอบข้อมูล’ ผู้กู้

          กยศ.เร่งตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาปลอมเอกสาร ผู้ค้ำประกัน ยันการทำสัญญากู้ยืม รัดกุม และสถานศึกษามีหน้าที่ ตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาก่อนส่ง กองทุนฯ พร้อมพัฒนาระบบ ตรวจสอบข้อมูลผู้กู้
          จากกรณีอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) แอบนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้อื่น มาเป็นผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงิน กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และไม่ยอมใช้หนี้ จนมี หมายศาลไปถึงผู้ถูกนำบัตรประชาชน ไปแอบใช้นั้น นายปรีชา บูชางกูร รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า กยศ.ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขณะนี้กำลังจะตรวจสอบเอกสารต่างๆ ของผู้กู้ดังกล่าว รวมทั้งจะไปคุยกับทาง มหาวิทยาลัยและผู้เสียหายก่อน
          อย่างไรก็ตามในการกู้ยืมเงินกยศ.จะมีการทำสัญญากู้ยืมเงิน ที่รัดกุมมาก โดยเฉพาะกรณี ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องไปลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารสถานศึกษา แต่ถ้าผู้ค้ำประกันไม่สามารถมาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหาร สถานศึกษาได้ ก็ให้เจ้าพนักงานทะเบียน ท้องที่หรือท้องถิ่น ณ ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาที่ประกอบอาชีพของผู้ค้ำประกันรับรองแทนได้
          นอกจากนี้ทางกองทุนฯ จะให้สถานศึกษาตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับ การศึกษาและค่าครองชีพ และเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนทุกฉบับก่อนรวบรวมส่งให้ทาง กองทุนฯ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละปี จะมีผู้กู้ยืมเงิน กยศ.จำนวนมาก เอกสารต่างๆ ก็มีให้ตรวจสอบมาก จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสารได้
          อย่างไรก็ตามในอนาคต กยศ.จะพัฒนาเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลมีความ ชัดเจน และสะดวกต่อการติดตามด้วย
          “กรณีที่เกิดขึ้นก็ไม่ทราบว่า เกิดความผิดพลาดตรงไหน แต่เมื่อ เรื่องมาถึงศาล ผู้เสียหายก็ต้องต่อสู้และชี้แจงให้ศาลได้รับทราบถึง ข้อเท็จจริง เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และหากใครเจอปัญหาเหมือนกรณีนี้ก็สามารถ ติดต่อมาที่ กยศ.เพื่อจะได้ให้คำ แนะนำและแก้ไขปัญหาต่อไป”  นายปรีชากล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรื่องราว ที่เกิดเป็นกรณีตัวอย่างนี้ เริ่มจาก การวิพากษ์วิจารณ์บนสังคมออนไลน์ ภายหลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ค@Jibf Khanpak ได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของมารดาตนเอง ที่ถูก นายสิทธิพงศ์ อนันตภูมิ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แอบนาสำเนาบัตรประชาชน ไปค้ำประกัน การกู้เงินกับกองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา (กยศ.) ถึง 2 ครั้ง
          โดยมีการนำเอกสารไปแอบอ้างเมื่อปี 2549 และปี 2550 ตามลำดับ จนเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี นักศึกษารายนี้ไม่ได้ชำระเงินกู้ดังกล่าว จนมารดาผู้โพสต์ได้รับหมายศาล ถึงบ้าน ให้ชดใช้เงินประมาณ 2 แสนบาท ดอกเบี้ยอีกประมาณ 8 หมื่นบาท ซึ่งในตอนนั้นมีการบ่ายเบี่ยง แต่เมื่อมีข่าวก็ได้ออกมาขอโทษและชำระเงินแล้ว

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ