ไม่ยากถ้าไม่อยาก’กวดวิชา’โรงเรียนสอนดี’ติวเตอร์’ก็ไร้ความหมาย

 


          หทัยรัตน์ ดีประเสริฐิ
          qualitylife4444@gmail.com
          กรุงเทพธุรกิจ “จริงๆแล้วถ้าโรงเรียนสอนดีแล้วเด็กเรียนเข้าใจสอบได้คะแนนดี ทั้งในโรงเรียนและสนามแข่งขันต่างๆและสอบเรียนต่อได้ในโรงเรียนดีๆ คณะเป้าหมายตามใจที่ฝัน ที่สำคัญการประเมินและวัดผลสอดคล้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียนก็ไม่ต้องเป็นต้องมีโรงเรียนกวดวิชาเลยก็ได้  แต่ทุกวันนี้ที่เด็กยังมาเรียนกวดวิชา เพราะว่าเด็กๆมาหาตัวช่วยให้เรียนในห้องได้ดีมากขึ้นและสามารถสอบเรียนต่อตามต้องการให้ได้ต่างหาก” ครูพี่หมุย-ธนัช ลาภนิมิตรชัย ติวเตอร์สอนวิชาภาษาไทยและสังคม แห่งโรงเรียน SociThai กล่าว
          ครูพี่หมุย กล่าวว่าจากการที่เป็นติวเตอร์สอนภาษาไทยและสังคมมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ทำให้เก็บสถิติข้อมูลได้ว่านักเรียนที่มาเรียนกับติวเตอร์ สามารถแบ่งได้ 2 กลุ่ม มีทั้งที่ต้องการมาเรียนเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจในบทเรียนห้องเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้เรียนได้ดีขึ้นทำคะแนนได้ขึ้น และอีกกลุ่มคือเรียนเพื่อให้มีความแม่นยำในเนื้อหาเพื่อให้สอบเรียนต่อให้ได้มากขึ้น ในโรงเรียนอันดับต้นๆของประเทศรวมทั้งสามารถสอบเข้าเรียนต่อในคณะ หรือสถาบันอุดมศึกษา ที่หมายตาเอาไว้
          ดังนั้น สถาบันกวดวิชาต่างๆต้องทำหลักสูตรไว้หลายๆ ระดับ ตั้งแต่เรียนเพิ่มเติมในห้องเรียน และหลักสูตรที่เรียนต่อยอดเพื่อไปเรียนต่อ เพื่อตอบความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้รูปแบบการเรียนการสอนก็เปลี่ยนไปเป็นการเรียนออนไลน์มากขึ้นไม่จำเป็นต้องมาเข้าแถวจองคิวเพื่อเข้าห้องเรียนสอนสดเหมือนในอดีต แค่เพียงลงทะเบียนเรียนไว้ และจองที่นั่งผ่านแอพพลิเคชั่นของสถาบันต่างๆ ก็สามารถมาเรียนได้ตามวันเวลาที่ผู้เรียนสะดวก  รวมทั้งซื้อโปรแกรมสำหรับใช้เรียนที่บ้าน
          “เด็กทุกวันนี้เขาโตมากับเทคโนโลยีโลกดิจิทัล ทุกอย่างสามารถค้นหาได้ในโลกออนไลน์ สมัยก่อนไม่เคยคิดว่า เด็กๆประถมปลายสามารถเรียนทางออนไลน์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งผิดคาดทุกวันนี้นักเรียนที่มาเรียนออนไลน์มีแนวโน้มอายุน้อยลงมาก บางคนเรียนอยู่ ป.5 ก็มาเรียนได้ แม้ว่าจะนั่งเรียนไปกินขนมไปด้วย แต่พวกเขาก็สามารถเรียนเข้าใจได้ตามวัยของพวกเขา” ครูพี่หมุย กล่าว ย้อนกลับมาว่าทำไมต้องมาเรียนกวดวิชา ครูพี่หมุย อธิบายว่าพูดกันแบบเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ ตราบใดที่โรงเรียนต่างๆยังมีความเหลื่อมกัน ทางคุณภาพกันอยู่เหมือนทุกวันนี้ และระบบการประเมินวัดผล และการสอบเข้าเรียนต่อไม่สอดคล้องกับการเรียนแล้ว โรงเรียนกวดวิชา ก็ยังคงเป็นคำตอบของพ่อ แม่ และนักเรียนที่ต้องการเรียนต่อในโรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาทีดี  และตอบโจทย์การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งหลายทั้งปวงที่ต้อง “กวดวิชา” ก็เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เพื่อสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคตทั้งสิ้น
          ครูพี่หมุย บอกว่า ถ้าจะแก้ปัญหา ไม่ให้มีโรงเรียนกวดวิชา ก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ด้วยวิธีง่ายๆ คือครูในโรงเรียนต้องสามารถสอนให้นักเรียนมีความรู้ที่สามารถทำไปสอบแข่งขันในสนามสอบต่างๆได้ สอบเรียนต่อโรงเรียนดังๆได้ และสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆที่เป็นเป้าหมายในฝันของนักเรียนทุกคนได้ถ้าทำได้เพียงแค่นี้ นักเรียนก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่สถาบันกวดวิชา ติวเตอร์ต่างๆก็ไม่มีความหมาย
          ปัญหาในทุกวันนี้ คือ นักเรียนที่มาเรียนกวดวิชาสะท้อนว่าระบบสอบคัดเลือกไม่สอดคล้องกับการเรียนสอน ทำให้เด็กสอบแข่งขันในสนามสอบต่างๆไม่ได้ บางอย่างไม่รู้เอาจากที่ไหนมาออกข้อสอบ โอเน็ตบ้าง ไม่เคยเรียนมาก่อน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นต้น ทำให้ต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งติวเตอร์โรงเรียนกวดวิชาต้องปรับตัวไปหาแนวข้อสอบมาเรียนรู้และนำไปสอนด้วยเช่นกัน เพราะติวเตอร์มีหน้าที่ช่วยสอนให้นักเรียนเรียนได้ดีและสอบเข้าได้มากที่สุดนั่นเอง
          ครูพี่หมุย จบม.ต้นโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี ม.ปลาย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ Crescent City JSHS สหรัฐอเมริกา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ประวัติศาสตร์สากล : University of Vienna ประเทศออสเตรีย ได้รับทุนเต็มจากสหภาพยุโรป ปริญญาโท ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ : London School of Economic and Political Sciences ประเทศอังกฤษ เป็นมหาวิทยาลัย อันดับ 4 ของโลกทางด้านสังคมศาสตร์ ตามการจัดอันดับของนิตยสาร TIMES 2009 (THE) โดยได้รับทุนเต็มจากสหภาพยุโรป เป็นอาจารย์พิเศษในโครงการเพื่อการศึกษาระดับประเทศ เช่น โครงการเพื่อนชุมชน จัดโดยเพื่อนชุมชนติวเตอร์ โครงการหนึ่งใจ ติวน้อง โดยมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ฯ โครงการอมรินทร์ยอดอัจฉริยะ ปี 6 โครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับมาม่า และรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่นักเรียนในสถานศึกษาชื่อดังทั่วประเทศ
          “แก้ปัญหาไม่ให้มีโรงเรียนกวดวิชา ก็ทำได้ คือ ครูในโรงเรียนต้องสอนนักเรียนให้แข่งขันในสนามสอบต่างๆได้”
          ธนัช ลาภนิมิตรชัย–จบ–


          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ