จังหวัดยะลา –
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การประชุมสัมมนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดยะลาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจาก ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งจะมาช่วยให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างแผนให้มีความละเอียดมากขึ้น โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาได้แลกเปลี่ยน เสนอแนะ และร่วมประชาพิจารณ์ร่างแผนดังกล่าว
การจัดทำแผนครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงหน่วยงานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เท่านั้น แต่มีผู้บริหารและข้าราชการทุกสังกัด ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นคณะสำคัญที่จะร่วมคิดร่วมวางแผนพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับภาคอื่นให้ได้ แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ จะมีสัญญาณที่ดีกับระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่สูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่หากเราได้มีการวางแผนที่ดี ก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะการมีแผนที่ดีเท่ากับงานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า “เวลาไม่เคยคอยใคร เด็ก ๆ ต่างรอผลจากการคิดของเรา เด็ก ๆ เติบโตขึ้นทุกวัน จะได้มีอนาคตที่ดีจากการวางแผนการศึกษาของเราในวันนี้”
นอกเหนือจากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังได้วางแผนยุทธศาสตร์การศึกษาให้สอดคล้องกับพื้นที่ต่าง ๆ เช่น แผนบูรณาการการศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน ในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนทั่วประเทศอีกด้วย
โอกาสนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้กล่าวฝากข้อคิดในการจัดทำแผน ดังนี้
-
คิดให้ครบ หากเรานำ “ปัญหา” ด้านการศึกษามาพูดก่อนก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิด แต่หากเราติดอยู่กับปัญหามากจนเกินไป ก็อาจจะไปไม่ได้ จึงอาจจะต้องข้ามไปคิดอย่างอื่นก่อนแล้วจึงแก้ปัญหาไปทีละขั้น จึงขอเสนอแนะให้การจัดทำแผน ได้พิจารณาถึง “จุดแข็งและโอกาส” ในพื้นที่จังหวัดยะลาก่อน และการจัดทำแผนจะต้อง “คิดให้ครบ” กล่าวคือ มองจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภทการศึกษา คำนึงถึงคนทุกระดับที่เข้ารับบริการตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุ คำนึงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลากหลายทั้งภายในและภายนอก และคิดให้ครบถ้วนถึงงานที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัดยะลาได้รวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นจากการประชุมสัมมนาไปปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด
-
การสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องนำร่างแผนยุทธศาสตร์ที่ร่วมกันจัดทำครั้งนี้ ไปชี้แจงทำความเข้าใจภายในหน่วยงานของตนเอง เพราะหากบุคลากรในหน่วยงานมีความ “เข้าใจ” แล้ว ก็จะได้ “เข้าถึง” งานได้ และเมื่อเข้าถึงงานได้แล้วก็จะเกิดการปรับปรุง “พัฒนา” ซึ่งเป็นหลักการทำงานตามยุทธศาสตร์พระราชทานคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นอกจากนี้ ต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานภายนอกเช่นกันด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการทำงานร่วมกันเป็นทีม -
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงขอให้หน่วยงานและสถานศึกษาได้สอดแทรกเรื่องนี้ไว้ในแผนงานและหลักสูตรการศึกษา แม้แต่นักเรียนโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนก็ยังได้เรียนรู้และปฏิบัติ รวมทั้งได้รับการสอนสั่งในสิ่งที่ดีงามตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันจะส่งผลให้นักเรียนนอกจากจะเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงแล้ว จะเป็นผู้มีจิตใจดีงาม มีวินัย มีภาวะผู้นำสูง และสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป -
การทบทวนแผนเป็นห้วง ๆ แม้ร่างแผนยุทธศาสตร์การศึกษาระยะ 20 ปี จะเป็นแผนระยะยาว แต่ทุก ๆ 5 ปีควรมีการทบทวนแผน หากล้าสมัยก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนได้ทีละขั้น ๆ เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของแผน ซึ่งก็เหมือนเราทำตามหลักการทรงงาน คือ “ก้าวแรกต้องมั่นคง” เพื่อจะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่เข้มแข็ง
อนึ่ง ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิด โดยนายวรเชษฐ์ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กล่าวต้อนรับ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานการจัดประชุมสัมมนา,
ร่าง แผนยุทธศาสตร์การศึกษา วิสัยทัศน์ (Vision) ประชาชนจังหวัดยะลาได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 พันธกิจ (Mission) 1. เสริมสร้างความมั่นคงแก่สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. พัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับสู่มาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 3. พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล เป้าประสงค์หลัก (Corporate Goal) มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ (Strategic Issue) 1. การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง |
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน/ถ่ายภาพ
8/5/2560