จังหวัดสงขลา – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับฟังผลการประชุมและเป็นประธานปิดการประชุมสัมมนาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ระดับจังหวัด ครั้งที่ 4 (จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมหรรษา เจบี หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 11, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา, ผู้บริหารสถานศึกษา คณาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการศึกษาจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมการประชุม
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นทุกท่านตั้งใจทำงาน ซึ่งเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อันจะส่งผลให้ประเทศชาติมีพลเมืองที่ดีต่อไป ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี คือ “ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลการดำเนินการมีความครบถ้วนตามแผนที่ได้วางไว้ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการสรุปในภาพรวม และได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ได้จัดทำขึ้นตามแนวทางยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และสอดคล้องกับแผนต่าง ๆ อาทิ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา, การขาดการบูรณาการ และการขาดเอกภาพในการดำเนินงาน อีกทั้งได้มีการปฏิบัติตามแผนควบคู่ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาแผนเป็นระยะ
ซึ่งนับจากนี้ขอให้ทุกหน่วยงานนำแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพราะการปฏิบัติเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แผนที่วางไว้ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนร่วมกันสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นความตั้งใจของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม
รวมทั้งจัดการศึกษาให้กับคนในทุกช่วงวัยเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเสมอภาคในการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำระบบการศึกษาที่เข้มแข็งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จังหวัดสงขลามีพรมแดนติดต่อกับมาเลเซีย ซึ่งมีด่านถาวร 3 แห่ง ได้แก่ 1) ด่านสะเดา อำเภอสะเดา ตรงข้ามด่านบูกิตกายูฮีตัม รัฐเคดาห์ 2) ด่านปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา ตรงข้ามรัฐเปอร์ลิส และ 3) ด่านบ้านประกอบ อำเภอนาทวี ตรงข้ามด่านบ้านดูเรียนบูรง รัฐเคดาห์ โดยมีสินค้าส่งออกผ่านด่านในจังหวัดสงขลา คือ ยางธรรมชาติ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไม้ยางพาราแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า ถุงมือยาง อุปกรณ์และส่วนประกอบของรถยนต์ แผ่นชิ้นไม้อัด ยางผสม ยางสังเคราะห์ วงจรพิมพ์ สิ่งสกัดจากมอลต์ และอาหารปรุงแต่งที่ทำจากแป้ง ในขณะที่มีสินค้านำเข้า คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องรับโทรทัศน์ ยางสังเคราะห์ ลวดไฟฟ้าสำหรับพัน และตะปูควง โดยมูลค่าการค้าชายแดนด้านจังหวัดสงขลา-มาเลเซีย คือ 492,862.86 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 254,016.46 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 238,846.40 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 15,170.06 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดสตูล มีจุดแข็งและโอกาสคือ
กล่าวโดยสรุป ข้อมูลการค้าชายแดนของ 2 จังหวัด คือ จังหวัดสงขลาและสตูล พบว่าไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างด่านชายแดนทั้งสองจังหวัด จำนวน 5 แห่ง รวมทั้งสิ้น 493,867.66 ล้านบาท โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามาเลเซีย จำนวน 14,496.62 บาท
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
15/6/2560