พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาพื้นที่ชายแดน (พ.ศ.2560-2564) ของกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมสัมมนาโครงการพัฒนาผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนในทุกช่วงวัยในทุกพื้นที่ เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงศึกษาธิการ โดยในห้วงที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดตามประกาศของรัฐบาล, พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ตลอดจนพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศ
สำหรับการจัดการศึกษาและพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา (4 อำเภอ คือ เทพา จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย) ซึ่งจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพบว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสภาพปัญหาด้านการศึกษาคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าพื้นที่อื่นในประเทศไทย และคุณภาพการศึกษายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน อีกทั้งการบริหารจัดการที่ผ่านมายังไม่มีความเป็นเอกภาพและขาดการบูรณาการ
แต่ภายหลังที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) หรือ “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) : Forward Section, Ministry of Education” เพื่อทำหน้าที่บูรณาการการแผนงานและโครงการให้เกิดการบริหารงานอย่างมีเอกภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ ทำให้สามารถแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการได้ และส่งผลให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นตามลำดับทุกปี
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ได้นำปัจจัยที่มีความแตกต่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ สังคมที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม, มีเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา, สถานศึกษาที่มีทั้งสังกัดของรัฐและเอกชน ฯลฯ มาพิจารณาเพื่อจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)
เมื่อได้จัดทำแผน
ทบทวนเป็นห้วง ๆ : ระหว่างการดำเนินงานตามแผนให้ดำเนินการทบทวน ปรับปรุง และแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กันด้วย เพื่อช่วยทบทวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด ห่วงการรับรู้ : โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจภายในองค์กรก่อน เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้แผนการทำงานและเกิดการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างสอดคล้อง บูรณาการทำงาน : ทุกภาคส่วนต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับแผนงาน และให้ความร่วมมือหรือการทำงานเชิงบูรณาการซึ่งกันและกัน สืบสานศาสตร์พระราชา : ขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการสอดแทรกไว้ในแผนการศึกษาและการดำเนินชีวิต |
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนาการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุขได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการพัฒนาการคุณภาพการศึกษาในพื้นที่อื่น ๆ ได้แก่ 1) การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก สงขลา มุกดาหาร นครพนม สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย และนราธิวาส 2) การจัดการศึกษาแบบบูรณาการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 3) การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดน 27 จังหวัด 105 อำเภอ
ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เป็นอย่างดี และมีแนวทางที่จะจัดประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนการศึกษาชายแดนของจังหวัดต่าง ๆ 27 จังหวัด รวมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ในเดือนตุลาคม 2560 เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดน อีกทั้งเป็นการทบทวนการปฏิบัติงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ตามหลัก After Action Review: AAR
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การบรรยายในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัดทุกคน ในการที่จะนำข้อมูลไปปรับใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการวางแผนและดำเนินงานในเขตพื้นที่ของตนเองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักของการวางแผนงาน เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ที่จะต้องศึกษาปัญหาอย่างถ่องแท้ ผู้ปฏิบัติงานต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเอง และต้องเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน นำไปสู่การพัฒนา ตลอดจนมีการทบทวนการปฏิบัติงานเป็นห้วง ๆ ต่อไป
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
17/6/2560