แนวปฏิบัติในการน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย

ศธ.น้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช





ศึกษาธิการ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อหารือแนวปฏิบัติในการน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุม



รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายหลังจากรัฐบาลมีแถลงการณ์แนวปฏิบัติในการน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นลำดับนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับรายละเอียดของแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อออกเป็นแนวปฏิบัติสื่อสารและเผยแพร่ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรในหน่วยงาน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบและถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป โดยสรุปแนวปฏิบัติ ดังนี้


1. ให้ลดธงครึ่งเสา เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559


1.1 ผู้มีหน้าที่ชักธง ต้องแต่งกายเรียบร้อย เมื่อใกล้กำหนดเวลาชักธงขึ้น ให้เตรียมธงผูกติดกับสายเชือกทางด้านขวาของผู้ชักธงให้เรียบร้อย


1.2 เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงออกเต็มผืน แล้วดึงเชือกให้ธงขึ้นช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ จนถึงสุดยอดเสาธง แล้วจึงผูกเชือกไว้ให้ตึงไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม


1.3 เมื่อชักธงลง ให้ดึงเชือกให้ธงลงช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ และสายเชือกตึง จนถึงระดับเดิมก่อนชักขึ้น


1.4 ในกรณีที่มีการบรรเลงเพลงเคารพหรือมีสัญญาณในการชักธงขึ้นและลง จะต้องชักธงขึ้นและลงให้ถึงจุดที่สุด พร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้น ๆ


1.5 กรณีที่ทางราชการประกาศให้ลดธงชาติครึ่งเสา ให้ปฏิบัติการชักธงขึ้นเช่นเดียวกับในข้อ 1.1-1.3 และข้อ 1.5 เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดลงให้อยู่ในระดับความสูงประมาณสองในสามส่วนของความสูงของเสาธงนั้น และเมื่อจะชักธงลงให้ชักธงขึ้นจนถึงยอดเสาก่อนแล้วจึงชักธงลงตามที่กำหนดในข้อ 1.3-1.4


2. ให้แต่งกายและการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559


2.1 ให้ข้าราชการ และหน่วยงานในกำกับ ไว้ทุกข์ 1 ปี นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559


2.2 สำหรับข้าราชการและหน่วยงานในกำกับ ในวันปกติทั่วไป สุภาพสตรีแต่งชุดผ้าสีดำ สุภาพบุรุษเสื้อขาวแขนยาว ผูกเนคไทสีดำ และกางเกงดำ กรณีสุภาพสตรีที่ไม่สะดวกจะใส่ชุดสีดำทุกวันนั้น อนุญาตให้แต่งชุดข้าราชการได้ทุกวัน ไม่เฉพาะวันจันทร์เท่านั้น เพราะเครื่องแบบข้าราชการถือเป็นการใส่ไว้ทุกข์ได้โดยปกติเช่นกัน


2.3 สำหรับการแต่งปกติขาว ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น การทอดกฐินพระราชทาน ให้ใส่ปลอกแขนดำไว้ทุกข์ข้างซ้ายเหนือข้อศอก


2.4 กรณีข้าราชการ แต่งชุดข้าราชการไว้ทุกข์ได้ทุกวัน สำหรับการแต่งชุดสีกากี แต่งตามปกติ ถือเป็นการไว้ทุกข์โดยปริยาย ไม่ต้องมีปลอกแขนสีดำ


2.5 กรณีเครื่องแบบ ควรงดเครื่องหมายเฉลิมพระเกียรติงานมงคลพระมหากษัตริย์ เข็มที่ระลึกที่ประดับเพิ่มเติมได้ คือ เข็มที่ระลึกงานสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, เข็มที่ระลึกงานพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น


2.6 สำหรับนักเรียน นักศึกษา ให้แต่งกายปกติทั้งชุดนักเรียน นักศึกษา ชุดกีฬา ชุดฝึกงานวิชาชีพ และชุดลูกเสือ


2.7 สำหรับผู้นับถือศาสนาอื่น การไว้ทุกข์ให้เป็นไปตามประเพณีของศาสนานั้น ๆ


3. ให้จัดโต๊ะหมู่บูชาพระบรมโกศ ดังนี้


3.1 จัดโต๊ะหมู่บูชา (หมู่ 9) ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  (ภาพสีหรือขาวดำ) พร้อมประดับเครื่องทองน้อย แพรไว้ทุกข์ ณ สถานที่ที่เหมาะสม


3.2 กรณีสถานศึกษาที่ไม่สามารถจัดโต๊ะหมู่บูชาพระบรมโกศได้ ให้ใช้แถบผ้าประดับดำเนินการแทน หรือการผูกผ้าสีดำขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง


4. การดูแลรักษาความปลอดภัย


ให้ทุกหน่วยงาน/สถานศึกษาทุกแห่ง กวดขันดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยของอาคารสำนักงาน และมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเวลา โดยออกคำสั่งให้ชัดเจน เมื่อเหตุการณ์ผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หรือตำรวจโดยด่วน


5. การจัดกิจกรรมในสถานศึกษา


5.1 ให้งดการจัดงานรื่นเริงของสถานศึกษา


5.2 การจัดการเรียนการสอนตามปกติ เช่น การจัดกีฬา กิจกรรมลูกเสือ หรือกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ต้องซักซ้อมให้โรงเรียนจัดได้อย่างเหมาะสม


5.3 การจัดประชุมสัมมนา การศึกษาดูงานต่างประเทศ สามารถจัดได้ตามปกติ


6. การมีส่วนร่วมกิจกรรมถวายสักการะร่วมกับส่วนราชการอื่น


6.1 ให้ส่วนราชการและสถานศึกษาให้ความร่วมมือกิจกรรมถวายสักการะไว้อาลัยกับส่วนราชการอื่น


6.2 ในส่วนภูมิภาค กรณีปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ กำหนดและรายงานให้กระทรวงศึกษาธิการทราบ



รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าทุกคนต้องการถวายความอาลัยอย่างเต็มที่ แต่บางเรื่องขอให้รอแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจากทางราชการ เช่น การใช้พระบรมฉายาลักษณ์ การใช้ข้อความต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ก็ประดับด้วยผ้าดำขาวบริเวณหน้ากระทรวงเท่านั้น เช่นเดียวกับหน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจไม่มีความพร้อม ก็สามารถแสดงออกตามกำลังที่มีอยู่ได้



ในฐานะที่กระทรวงศึกษาธิการได้ถวายพระราชสมัญญานาม “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” ดังนั้นพวกเราทุกคนควรร่วมกันทำในสิ่งที่พระองค์เริ่มไว้ ทำในสิ่งที่พระองค์คิดเพื่อคนไทย เพราะนั่นคือสิ่งที่จะถวายอาลัยได้ดีที่สุด



นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี ถ่ายภาพ
14/10/2559