แถลงยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุน EEC

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายปริวัฒน์ ถานิสโร ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดชลบุรี, ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ เกษตรภิบาล ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง และนายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมแถลงยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ซึ่งภายหลังคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)


จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ มาวางแผนร่วมกัน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564)


จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ



สาระสำคัญของยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากล รองรับการพัฒนาเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนให้มีความรู้ ทักษะนิสัยอุตสาหกรรม คุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับสถานประกอบการ ประชาสังคมในรูปแบบประชารัฐ เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดอาชีวศึกษาในทุกมิติให้สอดคล้องกับบริบทของภาคการผลิตและบริการใน EEC ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถ คณาจารย์ ครู บุคลากรทางการศึกษาและครูฝึกในสถานประกอบการ


นอกจากนี้ เพื่อให้รองรับการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาภาคการผลิตและบริการในยุคประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่


ยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดการอาชีวศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ


ยุทธศาสตร์ที่ 2 ผลิตและพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษาการวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านอาชีวศึกษาทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้


ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันด้านอาชีวศึกษา


ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสอน การแนะนำทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ยุทธศาสตร์ที่ 6 การขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจ ประเทศ ด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการบริหารจัดการภาครัฐ


ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการ รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดดังกล่าว ได้รับทราบและเข้าใจในแนวทางดำเนินการตามนโยบาย EEC ของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้จัดให้มีการแถลงยุทธศาสตร์ในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้เกิดขึ้น



นายสุเทพ ชิตยวงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ได้มอบหมายให้ สอศ. ดำเนินการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับแผนงานของรัฐบาล เพื่อเตรียมกำลังคนให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC สอศ. ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน



สอศ.ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 223 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระดับภาค 1 ศูนย์ ระดับจังหวัด 3 ศูนย์ รวมทั้งศูนย์ประสานงานย่อยใน 3 จังหวัดดังกล่าวอีก 10 ศูนย์ เพื่อให้เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกด้านกำลังคน รองรับปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างเครือข่ายด้านการอาชีวศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือในภูมิภาคอาเซียนตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับ EEC มุ่งปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร EEC เพื่อสนับสนุน New Engine of Growth เพิ่มศักยภาพสถานศึกษา โดยวิทยาลัยสารพัดช่างชลบุรี  เป็นทั้งศูนย์ระดับภาค และศูนย์ระดับจังหวัดชลบุรีอีกด้วย



สอศ.ได้ตั้งเป้าหมายว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยพัฒนากำลังคน รวมทั้งผู้บริหาร บุคลากรในสถานศึกษา อบรมผู้ประกอบการได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ภายในระยะเวลา 5 ปี และจะเร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียน ผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรอาชีวศึกษาในสังกัดอีกด้วย



ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ร่วมแถลงภารกิจ รายละเอียด และแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการงานของภาคเอกชน และตลาดงานของประเทศ โดยแบ่งแผนการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้


แผนระยะสั้น 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560เช่น พัฒนาครูฝึกในสถานประกอบการ และครูนิเทศการฝึกประสบการณ์อาชีพ เตรียมความพร้อมผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ จัดอบรมสมรรถนะวิชาชีพระยะสั้นให้กับผู้ว่างงาน บุคคลภายนอก และผู้มีงานทำ เพื่อยกระดับฝีมือการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และรองรับ 5 อุตสาหกรรมในอนาคต (New S-Curve) ทำความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งภาคการผลิตและบริการ ในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการกำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น



แผนระยะกลาง  เช่น เปิดสอนหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังคนอาชีวศึกษาที่ส่งผลต่อปัจจัยการผลิต  เปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรีสายปฏิบัติการ จัดหาครุภัณฑ์รองรับหลักสูตร 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) และแยกระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เป็นต้น



แผนระยะยาว  เช่น เปิดสอนหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับ 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา เปิดสอนหลักสูตร 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาในระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายปฏิบัติการ จัดหาครุภัณฑ์รองรับหลักสูตร 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และ 5 อุตสาหกรรมในอนาคต (New S-Curve) โดยแยกชุดครุภัณฑ์ตามระดับการศึกษา ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายปฏิบัติการ ส่งเสริมครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นและตรงกับสาขาวิชาหลัก จัดโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมใหม่ เป็นต้น



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวย้ำด้วยว่า ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนดังกล่าว ขอให้มีความ “สอดคล้องรองรับ เชื่อมโยง และนำแผนไปสู่การปฏิบัติ” กล่าวคือ การจัดทำแผนจะต้องสอดคล้องรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน นโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน



และขอให้ทำงานด้วยความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 13 ศูนย์ในพื้นที่ EEC อันจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างมีคุณภาพ โดยทุกฝ่ายจะต้องมีความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน เพราะเมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว จะทำให้เกิดความร่วมมือ อันจะส่งผลให้เกิดความสำเร็จตามตัวชี้วัดหรือผลการประเมินต่าง ๆ ต่อไป และที่สำคัญจะทำให้ความรู้ความเข้าใจของการพัฒนา EEC ไปสู่ประชาชนและสังคมอย่างกว้างขวางเพื่อร่วมกันพัฒนาต่อไป



สำหรับการแถลงยุทธศาสตร์ครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี, นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ผศ.ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, พ.อ.ดร.ขจรศักดิ์ ไทยประยูร โรงเรียนเสนาธิการทหารบก, ประธานหอการค้าจังหวัด, ตัวแทนสถานประกอบการ, ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาจังหวัด, ผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษา ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนใน 3 จังหวัด



บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
27/7/2560