คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบประชุมวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) โดยมี นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกศ., ผู้แทนองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้
รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมหารือกันกว้างขวางหลายประเด็น โดยพิจารณาวาระสำคัญคือ การจัดทำและเตรียมเผยแพร่รายงาน “Education in Thailand 2019-2020” ของ สกศ. เป็นรายงานทางวิชาการฉบับสำคัญ ได้รับการยอมรับในแวดวงนักวิชาการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนฉากทัศน์สำคัญอนาคตของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนการปฏฺิรูปประเทศด้านการศึกษา นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีเนื้อหาข้อมูลความเคลื่อนไหวทางการศึกษา ระหว่างปี 2562-2564 อาทิ ข้อมูลสถิติทางการศึกษา, การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปการศึกษา, การจัดทำแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ.2562-2565, ความก้าวหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …., ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติและการเรียนรู้ และความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
รายงานฉบับนี้ นำเสนอในรูปแบบภาษาอังกฤษ ประมวลข้อมูลภาพรวมด้านการศึกษาของประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย สกศ. จะได้ตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม ควบคู่รูปแบบดิจิทัล 4 สี สวยงาม เผยแพร่ไปยังผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ เครือข่ายองค์กรต่างประเทศ เครือข่ายนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนนักวางแผนนโยบายด้านการศึกษา ใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงทางการศึกษาและต่อยอดแนวทางพัฒนาระบบการศึกษาไทยยุควิถีปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างตรงจุดประสงค์
“กรรมการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้ให้ข้อเสนอแนะและย้ำจุดเน้นการขับเคลื่อนศึกษาของเด็กและครูผู้สอน ที่สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาดียิ่งขึ้นในยุคนิวนอร์มอล เช่น หลักสูตร Coding เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณาณในการสืบค้นข้อมูล และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างมีคุณธรรมจริยธรรม นำไปปรับใช้ได้จริง ทั้งการเรียนและดำรงชีวิตที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของประเทศ ด้วยการผลิตคนที่มีคุณภาพ รวมถึงเชื่อมโยงตัวชี้วัดการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs เพิ่มเติมลงในรายงาน Education in Thailand เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย” รมช.ศึกษาธิการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการที่มีข้อมูลในระบบกว่า 7,000 คน และเด็กด้อยโอกาส (เร่ร่อน) กว่า 800 คน โดยสนับสนุนงบประมาณในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบันในยุคโควิด-19 ผ่านกลไกศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ (ศกพ.) ภายใต้สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากคนพิการและเด็กเร่ร่อน ปัจจุบันมีอัตราครูต่อนักเรียน 1 ต่อ 80 คน ทั้งที่ควรจะเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 10 คน ซึ่งไม่สอดคล้องการจัดการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ
จึงได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าพาหนะ ให้กับครูผู้สอนคนพิการและเด็กเร่ร่อนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะสอนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก ๆ และการเดินทางไปปฏิบัติงานระยะทางไกล และยากลำบาก เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกับรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ ในรอบปี 2564 มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
– คณะที่ 1 ด้านการปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ จัดทำดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (TLEI)
– คณะที่ 2 ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อยู่ระหว่างยกร่างข้อเสนอแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
– คณะที่ 3 ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ได้จัดทำข้อเสนอการจัดทำฐานข้อมูล Big Data ความต้องการใช้ข้อมูลการผลิต การพัฒนา และการใช้ครูและบุคลากรทางการศึกษา
– คณะที่ 4 ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านดิจิทัลของผู้เรียนอาชีวศึกษา
– คณะที่ 5 ด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา กำลังจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างของ ศธ.
– คณะที่ 6 ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะทางานขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษา และผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา
และท้ายนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้รับทราบความก้าวหน้าการปรับแนวทางสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สกศ. อยู่ระหว่างวิเคราะห์แนวทางบริหารจัดการงบประมาณที่เหมาะสม อาทิ การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรีย ตามค่าใช้จ่ายจริง งบประมาณ 8.64 พันล้านบาทต่อปี, การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียนตามค่าใช้จ่ายจริง งบประมาณ 3.36 พันล้านบาทต่อปี รวมทั้งข้อเสนอเพิ่มงบประมาณสนับสนุนค่าไฟฟ้า จำนวน 3.51 พันล้านบาทต่อปี สำหรับโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับสนับสนุนเป็นการเฉพาะจากต้นสังกัด โดยเบิกจ่ายตามจริง ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำและไม่สามารถระดมเงินได้ เนื่องจากผู้ปกครองฐานะยากจน เป็นต้น
ทิพย์สุดา ศรีษะแก้ว: สรุป/ถ่ายภาพ
นวรัตน์ รามสูต: เรียบเรียง
ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.: รายงาน
3/9/2564