เสมา 1 ย้ำผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ เน้นทวิภาคี เรียนจบทำงานได้จริง สถานศึกษาปลอดภัย

1 สิงหาคม 2565, ห้องปทุมมาศ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนการอาชีวศึกษากับการพัฒนาประเทศ” ในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อติดตามผลการดำเนินและยกระดับคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาทุกมิติโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สอศ. กว่า 1,300 คน เข้าร่วม

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ทั้ง 53 ท่าน และขอขอบคุณผู้อำนวยการสถานศึกษาทั้ง 45 ท่านที่ขณะนี้กำลังเกษียณอายุราชการ แต่ได้ทำงานทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนผลักดันการทำงาน รวมทั้งกำหนดทิศทางต่าง ๆ ให้กับอาชีวะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่เราเจอสถานการณ์โควิดกันทั่วโลก ถึงไม่อยากเปลี่ยน ทุกอย่างก็เปลี่ยน ไม่ว่าเป็นการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ต้องเริ่มใช้ดิจิทัลมากขึ้น มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย พฤติกรรมของเยาวชนที่เรียนออนไลน์ก็เปลี่ยนไป แม้กระทั่งตัวเราเองก็มีมุมมองหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไปด้วย

รัฐบาลภายใต้การนำของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาในด้านอาชีวศึกษา เพราะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยแท้จริง ในเรื่องของหลักสูตรหรือแนวทางการเรียน ขอให้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วประกอบอาชีพได้จริง ตอบโจทย์การทำงาน ต่อสถานประกอบการและภาคธุรกิจ

ที่สำคัญขอให้ผลักดันระบบการศึกษาทวิภาคีให้เพิ่มขึ้น ทราบว่ามีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ขอให้เร่งพัฒนาขึ้นไปอีก โดยแต่ละสถานศึกษาต้องกำหนด KPI (ตัวชี้วัด) ให้ชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ หาเครือข่ายเอกชน สถานประกอบการมาช่วยเสริม พร้อมพัฒนาครูให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในสถานประกอบการ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในภาคธุรกิจ

ทางด้านของงบประมาณที่มีอยู่จำกัดนั้น ได้รับข่าวดี เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในลักษณะงบผูกผันต่อเนื่อง 4 ปี (2566-2569) ซึ่งยังไม่เคยปรับเลยในรอบ 13 ปี ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาการใช้จ่ายเงินในการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลโดยตรงแก่ผู้เรียนให้มากที่สุด

จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่าจำนวนผู้เรียนในหลายสถานศึกษาลดลง โดยเฉพาะวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีในหลายพื้นที่มีผู้เรียนน้อยลง ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารส่วนกลาง ขอให้เน้นเรื่อง Smart Farming นำเทคโนโลยีมาใช้ แสดงให้ผู้เรียนเห็นว่า การเกษตรสมัยใหม่ไม่ได้ลำบากเหมือนในอดีต สามารถใช้ต้นทุนต่ำ ใช้เงินทุนน้อย ได้ผลผลิตมาก หาแนวร่วมสร้างเครือข่ายกับวิทยาลัยเกษตรฯ อื่น ๆ เพื่อร่วมคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

เป็นที่ทราบดีว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งหลุดออกระบบการศึกษา ศธ.จึงได้มีโครงการ “ตามน้องกลับมาเรียน” ซึ่งในส่วนของ สอศ. มีโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” โดยในปีการศึกษา 2565 ตั้งเป้าจะมีนักเรียนเข้าโครงการ 5,000 คน ทราบว่าขณะนี้มีเด็กกลับมาเรียน 4,000 กว่าคนแล้ว ต้องขอขอบคุณผู้บริหารที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เข้ามาบริหาร ศธ. ได้เล็งเห็นช่องว่างต่าง ๆ ในหลายเรื่อง จึงได้พยายามขับเคลื่อนนโยบายที่ช่วยเสริมเติมเต็มลงไป อาทิ เรื่องของการโยกย้ายครู ก็มีการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูได้อยู่ใกล้ครอบครัวหรือภูมิลำเนา จึงได้ลดระยะเวลาการย้ายสำหรับครูผู้ช่วย จากเดิม 4 ปี เหลือ 2 ปี ก็สามารถยื่นขอย้ายได้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ “สถานศึกษาปลอดภัย” ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ได้ขับเคลื่อน ตั้งใจดูแลนักเรียน นักศึกษา ที่เปรียบเสมือนลูกหลานที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพในอนาคต ให้ได้รับความปลอดภัย ลดความเสี่ยงของการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท หาแนวทางสร้างมาตรการให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าสถานศึกษาสามารถดูแลบุตรหลานได้ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของนักเรียนอาชีวะด้วย

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
อธิชนม์ สลางสิงห์ / ภาพ