นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาธิการ สกศ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา
เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังฯขึ้นมา เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯได้มอบหมาย
ทั้งนี้ ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูล 3 ชุด คือ
1.ข้อมูลที่ได้จากนักเรียนเสนอเข้ามา และข้อมูลจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจจากโรงเรียนต่างๆขึ้นมา เช่น เรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน การลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุ เรื่องหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การคุกคามนักเรียน
2.เรื่องที่ประชุมคณะทำงานด้านกฎระเบียบฯเสนอขึ้นมาเอง เช่น เรื่องสภานักเรียน กรรมการสถานศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อให้มีองค์ประกอบที่สามารถช่วยดูแลโรงเรียนได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด ไม่ใช่ ศธ.เป็นผู้วางกฏระเบียบลงไปครอบคลุม เพราะโรงเรียนทั่วประเทศแตกต่างกัน จึงควรให้โรงเรียนมีโอกาสบริหารจัดการเอง
3.พิจารณาข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา ว่าต้องการแก้ไขระเบียบอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งที่ประชุมจะทำแบบสอบถามส่งให้โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนเสนอความคิดเห็น
“ประเด็นส่วนใหญ่ที่นักเรียนสะท้อน และสพฐ.รวบรวมมามีประเด็นใหญ่ๆ 3 ประเด็น คือ เรื่องทรงผม เครื่องแบบนักเรียน และการลงโทษนักเรียนที่เกินกว่าเหตุ ทางคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องทรงผมและเครื่องแบบนักเรียนไปแล้ว ดังนั้นคณะทำงานด้านกฎหมายฯ จึงได้พิจารณาแก้ปัญหาเรื่องการลงโทษนักเรียน” นายอำนาจ กล่าว
คณะทำงานด้านกฎระเบียบที่ล้าหลังฯ ได้หารือเรื่องระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดไว้ 4 เช่น
ว่ากล่าวตักเตือน , ทำทัณฑ์บน , ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในที่ประชุมบางส่วนมองว่าตัวระเบียบนี้ลงโทษไม่รุนแรง และในระเบียบไม่ได้ระบุว่าต้องลงโทษนักเรียนด้วยการตี แต่การสื่อสารระเบียบนี้ไปยังโรงเรียนอาจจะไม่ดีพอ โรงเรียนอาจจะไม่เคยเห็นระเบียบหรือไม่เข้าใจระเบียบที่นำไปใช้ จึงยังพบปัญหาครูตีเด็กอยู่ในปัจจุบัน
ที่ประชุมจึงมีมติว่าควรจะต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียน พ.ศ. … เพื่อให้ตรงกับบริบทและตรงกับสถานการปัจจุบัน และเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น
“ฝ่ายกฎหมายจะนำเสนอผลการประชุมนี้เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องฯชุดใหญ่ในครั้งต่อไป ในข้อกำหนดการลงโทษทั้ง 4 ข้อก็มีความเหมาะสม แต่จะเสนอเพิ่มเติมว่าคำนิยามต่างๆให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการนั้นได้รับการยอมรับในโรงเรียน สามารถปฏิบัติได้จริงและโรงเรียนเข้าใจ และที่ประชุมเสนอว่าควรให้โรงเรียนออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียน แต่ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียนทุกคน เครือข่ายผู้ปกครอง ศิษย์เก่าและชุมชน ผู้แทน ร่วมพิจารณาร่างระเบียบของโรงเรียนเอง เพื่อให้โรงเรียนสร้างกฎกติกาให้เป็นที่ยอมรับของโรงเรียนเองและเพื่อให้ครูสามารถปฏิบัติตามระเบียบนั้นๆ” นายอำนาจ กล่าว
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการยอมรับเกิดขึ้นภายในโรงเรียนที่ประชุมจึงมีข้อเสนอให้โรงเรียนได้ออกระเบียบการลงโทษนักเรียนของโรงเรียนเอง โดยให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงคณะกรรมการสถานศึกษา
นอกจากนี้ในการประชุมอีกครั้งวันที่ 9 ธันวาคมนี้จะมีการหารือถึงระเบียบว่าด้วยเรื่องการปกครองนักเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก และการคำนึงถึงสิทธิเด็กให้มากขึ้น
แหล่งที่มา : www.facebook.com/etvMAC/photos/a.950090051731136/4844849055588530/