เร่งติดตามความก้าวหน้าโครงการสำคัญ

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการ แทน รมว.ศธ.เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เมื่อเร็วๆนี้  ศธ.ได้เสนอของบประมาณเพื่อฟื้นฟูสถานศึกษาที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว ใน 5 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ( สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จำนวน  332 ล้าน บาท ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแต่ขอให้ ศธ.ไปดูงบประมาณในส่วนที่ตัวเองมีอยู่ก่อนว่าจะนำมาใช้ในภาวะที่จำเป็นเร่งด่วนได้อย่างไร หากจำเป็นให้แจ้งสำนักงบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ซึ่ง ศธ.ขอเพิ่มเป้าหมายผู้กู้ยืมรายใหม่เป็น 204,000 คน และบอร์ด กยศ.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืมว่าทำอย่างไรถึงจะ กู้ได้ยาก จ่ายได้ง่าย คือ ผู้ที่จะได้กู้ยืมเรียนควรเป็นผู้ที่มีความเดือดร้อนจริงๆ รายได้ครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี เรียนสาขาที่ประเทศต้องการ มีระบบคัดกรองให้ได้ผู้กู้ที่มีความต้องการจำเป็น สำหรับการจ่ายชำระเงินคืนกองทุนต้องมีช่องทางการจ่ายหลากหลาย เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์  และธนาคาร เป็นต้น โดยมีการติดตามเป็นระยะ เช่นเดียวกับการทวงหนี้ของธนาคารไม่ใช่ปีละครั้งเดียว ซึ่งหากดำเนินการอย่างรัดกุมรอบคอบในอนาคตกองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่หมุนเวียนได้ ไม่ต้องขอเงินงบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“สำหรับเรื่องการอาชีวศึกษานั้น ขณะนี้เราไม่สามารถผลิตกำลังคนได้เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการในประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ พัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาเพื่อดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาเรียนอาชีวะ พร้อมทั้งเปิดกว้างสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เช่นพัฒนาคนในสถานประกอบการเป็นต้น ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ ได้เสนอแนวทางว่าเป็นไปได้หรือไม่ให้ผู้ที่จบอาชีวะมีค่าตอบแทนมากขึ้น เช่น ได้เกียรตินิยม มีทักษะสมรรถนะเพิ่ม ก็ให้ค่าตอบแทนเพิ่ม” ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว      

สำหรับการดำเนินโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียนนั้น  ที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่าจะเสนอ คสช.ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณและรูปแบบโครงการเพื่อดำเนินการนำร่องในรูปแบบการใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณในปี 2556 ที่เหลืออยู่ 1,100 ล้านบาท มาดำเนินการในลักษณะวิจัยนำร่อง โดยให้โอกาสเด็กในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน โดย เป็นโรงเรียนใน 10 สังกัด ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อแท็บเล็ต ซึ่งในที่ 23  มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมหารือเพื่อดูรูปแบบที่มีความหลากหลายและเหมาะกับศักยภาพของโรงเรียนด้วย

กลุ่มสารนิเทศ.สอ.สป/ภาพข่าว