บางคนรักสัตว์ก็อาจวิ่งไปซื้อน้องหมาหรือแมวมาเลี้ยง ก็โอเค.แล้ว สำหรับบางคนเขาดำดิ่ง ด้วยความรักความชอบได้มากกว่านั้นอีก…
น.สพ. เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ เป็นสัตวแพทย์ประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาทำงานอยู่ในคลินิกรักษาหมาแมวในกรุงเทพอยู่ราว 4 เดือน เมื่อโรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้ประกาศรับสมัครเขาจึงตรงดิ่งมาด้วยใจรัก คือ ‘ด้านสัตว์ป่า’
เบญจพล เล่าถึงโรงพยาบาลสัตว์ที่เขาทำงานมาได้ประมาณ 1 ปีนี้ว่า “ที่นี่เป็นโรงพยาบาลสัตว์ ดูแลรักษาสัตว์ทุกชนิด ที่พิเศษคือรักษาพวกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า อย่างพวก ช้าง เก้ง กวาง หมูป่า นอกจากนั้นก็ดูแลทั่วไปอย่างสัตว์พวกปศุสัตว์ อย่างหมูหรือไก่ หรือสัตว์เล็กๆ อย่างหมาหรือแมว เป็นต้น หน้าที่ของผมมีดูแลสัตว์ป่า และ Exotic pet พวก นก หนู งู กระต่าย กระรอก เต่า กิ้งก่า ตุ๊กแก เป็นต้น”
โรงพยาบาลสัตว์ที่รับรักษาสัตว์ป่ามีอยู่หลายแห่งในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะสังกัดหรือตั้งอยู่ตามมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง หรือสวนสัตว์ อย่างมหาวิทยาลัยหรือสวนสัตว์เขาเขียว
ตอนเด็กๆ ติดสารคดีสัตว์ป่า
เราถามเบญจพลถึงที่มาของความสนใจทำไมสนใจเรียน เขาตอบว่า เริ่มสนใจชีวิตสัตว์ป่าจากการดูสารคดีมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ รู้สึกว่าทั้งรูปร่างและพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นเหมือนมีสิ่งดึงดูดให้ให้ความสนใจ
นอกจากนี้เบญจพล บอกว่า ด้วยความที่เป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกับธรรมชาติมากนัก จึงมีอยากจะค้นหาหรือเข้าหา ‘ธรรมชาติ’ อย่างตอนเป็นเด็กก็ชอบไปสวนสัตว์ ชอบเลี้ยงสัตว์ พอโตขึ้นอีกนิดก็ได้พบและ ‘ติดกับ’ เข้ากับมีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น
“ผมชอบดูนก นกเป็นสัตว์ป่าที่เข้าหาง่ายที่สุด อยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งอยู่ในเมืองก็มีให้ดูได้ เริ่มดูจากในเมือง รู้จักมากขึ้น เราก็ขยับขยายไปดูในป่า พอไปป่าดูนกแล้วก็ได้เจอสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย”
แม้เราจะเข้าถึงสัตว์ป่าไม่ได้อย่างสัตว์พวกหมาหรือแมว แต่พฤติกรรมของพวกมันที่แสดงออกมาตามธรรมชาติก็ทำให้คนรักได้ไม่แพ้กัน
“อย่างนกกระจอกบินไปบินมา อยู่รอบตัว ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราเห็นนกกระจอกทั่วไป ลองสังเกตสักแป๊บ ดูว่ามันกินอย่างไร มันทำอะไรบ้าง มันจะเห็นอะไรที่แบบ มันแปลกดี ทำไมมันคาบอาหาร มันป้อนลูกมันอย่างไร ลูกมันรู้ว่าตัวไหนเป็นพ่อแม่มัน ทั้งที่นกน่าตาเหมือนกัน นกมันมีการจัดลำดับสังคมด้วยนะ อย่างนกกระจอกจะมีหูสีดำ แสดงยศ บรรดาศักดิ์ ถ้าใหญ่ก็จะศักดิ์สูงกว่า จะเห็นว่ามันจะลงมากินอาหารก่อน ก็แปลกดีนกเหมือนคนเลย”
‘ดูนก’ ก่อนไปเรียนสัตวแพทย์
เบญจพล ว่า กิจกรรม ‘ดูนก’ เป็น Hobby ของเขา และถือเป็น ซีเรียสฮอบบี้ “ไม่ได้เครียดนะครับ แต่จริงจัง” เขาจึงไม่หยุดไว้เป็นงานอดิเรกยามว่างเท่านั้น
“ถ้าเราไปดูแล้วประมาณ สวยดี น่ารักจัง แล้วก็เข้าไปเพิ่มในบันทึกของตัวเองว่าได้พบนกเป็นกี่ร้อยชนิดแล้ว มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น มันก็จบแค่ตรงนั้น แต่ถ้านำองค์ความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ใช้เป็นวิชาชีพได้”
เมื่อถึงเวลาเลือกสาขาวิชาเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซีเรียสฮอบบี้ จึงมีผลต่อการตัดสิน ด้วยความที่เป็นกิจกรรมที่สามารถใช้สอยเวลาไปได้ไม่มียั้งอย่างมีความสุข เขามองไว้คือด้าน ด้านวนศาสตร์ แต่ที่ตัดสินใจเลือกเรียนด้านสัตวแพทย์เพราะคิดว่า…
“ถ้าเรามีโอกาส ถ้ารักษาได้ด้วย มันจะเป็นอะไรที่ได้มากกว่า คือถ้าเราสามารถที่จะเลือกเรียนได้ก็เลือกทางสัตวแพทย์ดีกว่า”
จากนั้นเขาก็ตัดสินใจสอบโควตาเข้าในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้เอนทรานซ์ตามปกติขณะนั้น
เบญจพล เล่าถึงการเรียนในคณะสัตวแพทย์ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ตัวเขาเองสนใจด้านสัตว์ป่า แต่การเรียนการสอนเป็นแบบเน้นให้รักษาสัตว์ให้เป็นทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมาแมวหรือเสือตัวใหญ่ นก หนู งู กระต่าย ไก่ เป็ด วัว ควาย เป็นต้น
แม้จะมีการการเรียนการสอนเรื่องสัตว์ป่า แต่การเรียนการสอน มุ่งเน้นไปที่พวกสัตว์เล็กอย่างหมาแมวหรือพวกสัตว์ปศุสัตว์ มีเหตุผลว่าเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม ให้ความสำคัญกับผู้เรียนมากกว่าก็คือหมาแมว หรือ กลุ่มปศุสัตว์ เพราะประเทศเราเป็นเมืองเกษตร ทำให้เขารู้สึกขัดแย้งแต่ในท้ายที่สุดก็ได้พบกับความเข้าใจ
“ตอนแรกรู้สึกว่าไม่ค่อยสอนสัตว์ป่าเลย แต่ไปๆมาๆ ก็เห็นความสำคัญ อย่างหมาแมวมันมีมานานเขาก็ศึกษาเชิงลึกมากกว่า เราก็สนใจพวกอายุรศาสตร์ แล้วปรับใช้กับสัตว์ป่าได้ เช่น จะรักษาเสือตัวหนึ่งก็ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในการรักษาแมว เพราะเสือก็คือแมวตัวใหญ่ รักษาหมาป่าตัวหนึ่งก็เหมือนหมาบ้าน เราไม่สามารถเข้าถึงหมาป่าได้อย่างหมาบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดมาประยุกต์เมื่อนำมาใช้งานจริง”
นิสิตที่เรียนสัตวแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะต้องเรียนรักษาสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยง ส่วนเรื่องความชำนาญเฉพาะทางนั้นจะมีการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ในด้านที่สนใจใน 3 อาทิตย์สุดท้ายของการเรียน บางคนสนใจเรื่องปลาก็มุ่งหน้าศึกษาไปโดยเฉพาะ สำหรับเบญจพลสนใจด้านสัตว์ป่า เขาจึงมุ่งหน้าไปเรียนที่สวนสัตว์เขาเขียว
“ด้วยความที่เป็นสวนสัตว์ จึงมีเคสให้เราได้เรียนรู้หลากหลาย มีทีมงานหมอที่เชี่ยวชาญ” เบญจพล อธิบาย
รักษาสัตว์ป่าเขาว่ากินอุดมการณ์
หลังจากเรียนจบแล้ว เบญจพลเลือกทำงานในโรงพยาบาลรักษาสัตว์ ไม่ได้เลือกทำงานตามคลินิก ทั้งที่มีรายได้ค่อนข้างสูงมากกว่า เพราะเขามุ่งมั่นจะที่ทำงานด้านสัตว์ป่า ด้วยความที่เห็นกำลังคนในด้านนี้มีน้อย จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานที่เข้มแข็งขึ้น
“มีคนพูดไว้มากว่างานด้านสัตว์ป่าเป็นงานกินอุดมการณ์ แต่อย่าลืมว่าเรื่องสัตว์ป่าในเมืองไทย คนที่ตระหนักเรื่องนี้มีน้อย ผมชอบและเห็นความสำคัญ จึงอยากเป็นหมอสัตว์ป่า หมอสัตว์เล็กสร้างรายได้ก็จริงหรือเป็นเซลขายยาสำหรับรักษาสัตว์ในงานปศุสัตว์ แต่ไม่ใช่งานที่เราชอบ”
เบญจพล อธิบายเพิ่มว่า การได้ทำงานในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนจบมานั้น อย่างแรกคือการได้ตอบแทนสถานบันการศึกษาที่บ่มเพาะเขามา และอีกประการคือเขามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านสัตว์ป่า สถานที่ทำงานแห่งนี้มีเคสสัตว์ป่าที่หลากหลายทั้งชนิดและความเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยเกินกำลังจะรักษาจากหลายๆ แห่งแล้ว จะถูกส่งมายังที่ทำงานของเขา แล้วยังมีมีอาจารย์เก่งๆ ที่ดูแล จะทำให้เขาสามารถพัฒนาได้เร็ว
“เรื่องรายได้นับไม่ได้เลย ผมเป็นนิสิตที่กู้รัฐบาลเรียน เพิ่งเรียนจบตอนนี้มีหนี้ติดตัวแล้ว 4 แสนบาท ผลตอบแทนจากการทำงานที่สำคัญสำหรับผมคือประสบการณ์ หาที่อื่นไม่ได้ ความรู้ได้เยอะมาก และได้ทำงานที่รัก” เบญจพล เล่าให้ฟังก่อนขอตัวไปดูแลช้าง หนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของเขา
แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ