เยี่ยมโรงเรียนเก่าแก่ใน "อ่างทอง"

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ, นายศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน., นายสิทธิพงษ์ พฤกษอาภรณ์ ศึกษาธิการจังหวัดอ่างทอง, นายกวินเกียรติ นันทะ รองเลขาธิการ กช. และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยา อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 130 ปี ในจังหวัดอ่างทอง โดยมีนายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ



รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดี ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนเก่าแก่ของจังหวัดอ่างทอง ซึ่งผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพช่วยพัฒนาพื้นที่นี้ และประเทศมาอย่างยาวนาน ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริหารสถานศึกษาทุกคน ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนเด็กและเยาวชนจังหวัดอ่างทอง ให้มีความพร้อมสมบูรณ์รอบด้าน และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

สำหรับจังหวัดอ่างทอง แม้จะเป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีเพียง 7 อำเภอ แต่มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมในหลายด้าน อาทิ พืชผักผลไม้หลากหลายชนิด สภาพสังคมที่อบอุ่น และการแบ่งปันสิ่งดีงามให้แก่กัน รวมทั้งการปลูกฝังให้เบาวชนมีระเบียบวินัย รักชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ และให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน



ในส่วนของโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยา นอกจากประวัติโรงเรียนที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 130 ปีแล้ว การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนแห่งนี้ ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ทั้งความโดดเด่นด้านการบริหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักเรียนได้เป็นตัวแทนจังหวัด เข้าแข่งขันระดับภาค ระดับชาติ และนานาชาติ รวมทั้งเป็นศูนย์ “สะเต็มศึกษา” (STEM) ของ สสวท. และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะเดียวกัน ก็มีศักยภาพนำพาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ทัดเทียมนานาประเทศในอนาคต



“ขอฝากครูทุกคนเอาใจใส่เด็กนักเรียนของเราทุกกลุ่ม ทั้งเด็กเก่งและเด็กปานกลาง เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้พัฒนาตนเอง พร้อมกับสอนให้คิดเป็น วิเคราะห์ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย ทั้งการประกวดโครงงาน การใช้ภาษาไทย การโต้วาทีในประเด็นเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น



ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ก็ได้ลงพื้นที่ไปดูงานในความรับผิดชอบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของครูเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เห็นของจริง และหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมกับผู้บริหารระดับนโยบายและผู้เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการผลักดันนโยบายขยายเพดานค่ารักษาพยาบาลของผู้อำนวยการและครูโรงเรียนเอกชน จากคนละ 1 แสนบาทต่อปี เป็นคนละ 1.5 แสนบาทต่อปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครูเอกชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเอง ให้ได้รักษาตนเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างที่ผ่านมา นอกจากนี้ มีแผนที่จะปรับปรุงการเบิกจ่ายตรง และการลดขั้นตอนการเบิกจ่ายให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พยายามผลักดัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของครูเอกชน ที่ส่งผลโดยตรงต่อการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว.





นวรัตน์ รามสูต: สรุป/เรียบเรียง
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.: รายงาน