เปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 ระดับชาติ เรื่อง ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน (Inclusion and Education: All means all)

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายน​ 2563 เวลา 13.30 น. นาย​ณัฏ​ฐ​พล​ ที​ป​สุวรรณ​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงศึกษาธิการ​ ร่วมงานเปิดตัวสรุปรายงานการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2563 ระดับชาติ เรื่อง ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน (Inclusion and Education: All means all) โดยมี Mr. Shigeru Aoyagi ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ, นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวง​ศึกษาธิการ​ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
 width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=  width=
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ริเริ่มการจัดทำ “รายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลก (Global Education Monitoring Report)” เพื่อเป็นกลไกติดตาม และรายงานผลของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 4 รวมทั้งการศึกษาในเป้าหมายอื่น ๆ โดยในปี 2563 ได้กำหนดหัวข้อการจัดทำรายงาน เรื่อง “ความครอบคลุมและการศึกษา: ทั้งหมดหมายถึงทุกคน (Inclusion and Education: All means all)” ซึ่งมีสาระสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับผู้ที่ตกหล่นจากการศึกษา และสร้างความเข้าใจและความเคารพในแนวคิดเรื่อง “การศึกษาที่ครอบคลุม” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาปัจเจกบุคคล ตามความถนัดและความจำเป็น บนแนวทางที่หลากหลาย โดยรายงานฉบับนี้นับเป็นรายงานฉบับที่ 4 นับจากที่ได้เริ่มจัดทำรายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลกเมื่อปี 2560

สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อสร้างการศึกษาที่ครอบคลุม ประกอบด้วย
-​ สร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาแบบครอบคลุมเพิ่มขึ้น
– มุ่งเป้าหมายการสนับสนุนการเรียนไปยังผู้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
– ใช้ความชำนาญและทรัพยากรร่วมกัน
– มีการปรึกษาหารือกับชุมชนและผู้ปกครองอย่างมีความหมาย
– สร้างความมั่นใจว่าแผนก ภาค และระดับชั้นของภาครัฐ มีความร่วมมือระหว่างกัน
– มีพื้นที่ให้ผู้มีบทบาทนอกภาครัฐ ร้องถามและเพิ่มเติมส่วนที่ขาด
– ใช้การออกแบบเพื่อทุกคน สร้างความมั่นใจว่าระบบความครอบคลุมจะทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพ​
– เตรียมพร้อม สร้างพลัง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำงานด้านการศึกษา
– เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความครอบคลุมด้วยความเอาใจใส่ และความเคารพ
– เรียนรู้จักเพื่อน อาทิ การแบ่งปันประสบการณ์​ผ่านเครือข่ายครู การประชุมระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เป็นต้น

รมว.ศึกษาธิการ​ กล่าว​ว่า​ รายงานการติดตามผลการศึกษาระดับโลกนี้ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการจัดการศึกษาในทุกประเทศ ทั้งข้อตระหนักและข้อเสนอแนะด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีความครอบคลุมกับทุกคน โดยต้องยอมรับว่าการพัฒนาการศึกษา เป็นการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลาและต้องอาศัยการวางรากฐาน เราจึงต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อพัฒนาการศึกษา มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030

“รายงานดังกล่าว มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รายงานฉบับนี้ประกอบด้วยข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ เร่งขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ​ไทย จะนำรายงานฉบับนี้มาผสมผสานกับแผนงานที่กระทรวง​ศึกษาธิการ​กำลังดำเนินงาน อาทิ การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและตรงจุด, การพัฒนาการศึกษาพิเศษ, การพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง, การนำระบบดิจิทัลมาช่วยในการวัดผลและประเมินผล พร้อมจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและแผนงาน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน เป็นต้น โดยหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นหลัก และบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่อไป” รมว.ศึกษาธิการ​ กล่าว

อรพรรณ​ ฤทธิ์​มั่น​: สรุป
นวรัตน์​ ราม​สูต​: เรียบเรียง
ยุทธ​พงศ์​ เลือก​กลั่น​ดี​: ถ่ายภาพ
กลุ่ม​ประชา​สัมพันธ์​ สร.: รายงาน
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักความสัมพันธ์​ต่างประเทศ​ สป.
14/9/2563