เปิดตัวรายงานสรุปการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2562 ระดับชาติ: “การโยกย้ายถิ่น การพลัดถิ่น และการศึกษา : สร้างสะพาน สลายกำแพง”





















































(13 มิ.ย. 2562) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ UNESCOและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิดตัวรายงานสรุปการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2562 ระดับชาติ เรื่อง “การโยกย้ายถิ่น การพลัดถิ่น และการศึกษา : สร้างสะพาน สลายกำแพง” โดยมีนางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ณ ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อปี 2015องค์การสหประชาชาติได้ริเริ่มกระบวนการหารือเพื่อกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี2015 (post-2015 development agenda) ตามกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยประเด็นสำคัญของวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015คือ การจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs)ซึ่ง UNESCO ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานดูแลเป้าหมายที่ 4 คือ รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคนและได้มีการจัดทำ Global Education Monitoring (GEM) Report รายงานผลการศึกษาทั่วโลกประจำปี รวมถึงเป็นกลไกเพื่อติดตามและรายงานผลของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการศึกษาในเป้าหมายอื่นๆ ด้วย


สำหรับประเด็นปัญหาของปีนี้ คือเรื่องการโยกย้ายถิ่น การพลัดถิ่น และการศึกษา โดยสิ่งสำคัญคือหากมีการจัดการศึกษาให้กับผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้ได้แล้ว จะเปรียบเหมือนกับสร้างสะพานให้กับพวกเขา และลดการปิดกั้นต่าง ๆ ลงไป จึงเป็นที่มาของการกำหนดชื่อรายงานว่า “สร้างสะพาน สลายกำแพง”


ในเรื่องคุณภาพการศึกษาของผู้ย้ายถิ่นนั้นสิ่งที่ยากที่สุดของการจัดการศึกษาคือ กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการไม่เหมือนคนอื่นทำให้ไม่สามารถจัดการศึกษาหรือพัฒนาคุณภาพได้เต็มศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรกว่า763 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในประเทศแม่ของตน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่สมัครใจย้ายถิ่นเอง และกลุ่มที่ไม่สมัครใจย้ายถิ่นแต่มีความจำเป็นจากปัจจัยที่ไม่สามารถเลือกได้ เช่น ภาวะสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เด็กที่ย้ายถิ่นตามผู้ปกครองเพื่อทำงาน เป็นต้น ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะ


ในส่วนของรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยเปิดรับคนกลุ่มนี้เข้ารับการศึกษาไม่ว่าจะมีเอกสารทะเบียนราษฎร์หรือไม่ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ โดยหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าบางครั้ง ประกาศหรือระเบียบบางเรื่องที่ออกมาทำให้คนในพื้นที่เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ อาจต้องมีการจัดอบรมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนกรณีนักเรียนรหัส G (นักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย)กระทรวงศึกษาธิการก็เร่งดำเนินการจัดระบบร่วมกับทุกสังกัดที่จัดการศึกษาให้สามารถใช้งานได้เต็มที่รวมถึงประเด็นระหว่างประเทศที่มีความละเอียดอ่อน จะมีการปรึกษากับหน่วยงานในพื้นที่และประเทศที่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด


การจัดงานวันนี้กระทรวงศึกษาธิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงาน UNESCO แห่งประเทศไทย ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ พัฒนาการศึกษาทั้งในเชิงคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาควบคู่กัน ส่วนกิจกรรมในวันนี้เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี


ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การเปิดตัวรายงานสรุปการติดตามผลการศึกษาทั่วโลก ประจำปี 2562 ระดับชาติ เรื่อง “การโยกย้ายถิ่น การพลัดถิ่น และการศึกษา : สร้างสะพาน สลายกำแพง”(Thailand National Launch of the 2019 Global Education Monitoring Report “Migration, displacement and education : Building bridges, not wall”) จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและข้อเสนอแนะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาในภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในประเทศไทย เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ทำงานพัฒนาด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่น รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน


จากนั้นมีการจัดสัมมนา “การศึกษามีบทบาทเป็นสะพานและช่วยสลายกำแพง” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คุณกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์กรระหว่างประเทศ, ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน., ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ., ผู้จัดการโครงการเยาวชน Rays of Youth จังหวัดตาก, ผู้แทนเยาวชนมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 


                                                                                                                                                                                                               ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป


ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ถ่ายภาพ


                                                                                                                                                                                                                กลุ่มสารนิเทศ สป.ศธ.