เด็กไทยตีกันใน รร.ที่ 2 ของโลก

          ตะลึงเด็กไทยรังแกกันเอง ในโรงเรียน พุ่งสูงติดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น กรมสุขภาพจิตเผย ส่งผล กระทบระยะยาวทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายรังแกเติบโตกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง ส่วนเหยื่อถูกรังแก เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หนำซ้ำปัญหาใหม่โผล่อีก รังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ทั้งข้อ ความ-ภาพ-คลิปวิดีโอ ระบุสถาบันสุขภาพจิตเด็กฯ เร่งวิจัย-พัฒนาโปรแกรมป้องกัน แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
          เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่น่าห่วงคือเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียง่าย พ่อแม่และครูมีเวลาให้เด็กเรียนรู้ความรุนแรงจากเกม สื่อต่าง ๆ ไปใช้กับเพื่อน มีเด็กจำนวนมากถูกรังแก ล้อเลียน ทำ ให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น และยังพบปัญหาใหม่ การรังแกกันผ่านสื่อออนไลน์ทั้งการใช้ข้อความ ภาพ หรือวิดีโอคลิปบนโลกอินเทอร์เน็ต
          ทั้งนี้การสำรวจในโครงการติดตามสภาว การณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบมีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วนนักเรียนถูกเพื่อนรังแกสูงถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ใน ปี  2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศพบว่า ร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ ร้อยละ 43 บอกเคยถูกคนอื่นรังแก
          “การรังแกกันเป็นจุดเริ่มต้นการถูกปลูกฝังเรื่องความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย มีผลในระยะยาว ฝ่ายที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่น เพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ส่วนคนที่รังแกคนอื่นจะนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล อาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อ ลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่ เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว” นพ. บุญเรือง กล่าว
          ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กทม.กล่าวว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงถูกรังแกมากที่สุด คือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เด็กพิการ และเด็กเพศทางเลือก ซึ่งมีรายงานถูกรังแกมากที่สุด ส่วนเด็กที่รังแกผู้อื่นนั้นพบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น สมาธิสั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งขณะนี้สถาบันฯ ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรม ป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย เน้นที่กลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อน การพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้.
–จบ–

          –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2561 (กรอบบ่าย)–