นักเรียน นักศึกษาแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ เจ้าของผลงานคิดค้นสร้างเครื่องเฝ้าระวัง ภาวะ Heat Stroke Thailand 4.0
เพื่อทดแทนการชักธงสีบอกอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของทหาร เดิมทีทางทหารใช้ธง 5 สีบอกสัญญาณอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke) ในขณะทำภารกิจฝึกทหาร
คุณครูภูวดล เปี่ยมจาด หัวหน้าแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ
ได้นำทีมนักสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมแข่งขัน สุดยอดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ สิ่งประดิษฐ์ประเภท 7 ด้านการแพทย์หรือบรรเทาสาธารณภัย
คว้ารางวัลผลงานระดับเหรียญทองซึ่งครูภูวดล กล่าวว่า เครื่องเฝ้าระวัง ภาวะ Heat Stroke Thailand 4.0 เกิดจากปัญหาทั้งในและต่างประเทศที่เกิดวิกฤตโลกร้อน ส่งผลให้เกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) ในกลุ่มทำภารกิจกลางแจ้งเป็นจำนวนมากจะเห็นตามข่าวมีการเสียชีวิตสูงถึงพันรายต่อปี นักศึกษาในแผนกวิชาจึงมีแนวคิดขึ้นแล้วมาเสนอกับคณะครูในแผนกเพื่อรับการส่งเสริมด้านนายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เครื่องเฝ้าระวังภาวะ Heat Stroke Thailand 4.0 ที่นักศึกษาคิดค้นขึ้นมาเป็นประโยชน์และนำมาใช้ได้จริง และช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ โดยการส่งสัญญาณเตือนให้ได้รับรู้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากการเกิดภาวะ Heat Stroke ส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ๆ คือ อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมรอบตัวคน มีผลต่ออุณหภูมิของร่างกายของคน โดยเฉพาะผู้ที่มี Activity กลางแจ้ง เช่น นักกีฬา ทหาร หรือเกษตรกรหากอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม
ที่เครื่องประดิษฐ์วัดได้ถึงระดับใดๆ ก็มีไฟเตือนให้ทราบ โดยเฉพาะหากถึงระดับวิกฤตที่จะเกิดอันตรายกับมนุษย์ก็จะมีไฟและเสียงไซเรนเตือนให้ทราบ จะได้หยุด Activity ในทันทีและดื่มน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย ให้ลงมาอยู่ในระดับปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะ Heat Stroke ได้
ด้านนายชัยอรุณ บุญเรือง หนึ่งในทีมที่ปรึกษาสิ่งประดิษฐ์ พร้อมด้วย นายสุธีราวัฒน์ เสาสา นักศึกษา ปวช.3 และนายระพีพัฒน์ พันธ์เพชร ปวส.1 แผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ ตัวแทนนักศึกษาทีมนักประดิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อประดิษฐ์เครื่องเสร็จ ได้นำเครื่องไปให้ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน จาก 5 สาขาวิชา 5 มหาวิทยาลัย เพื่อวิจัยทดลองและหาคุณภาพของเครื่อง ผลออกมาเครื่องมีคุณภาพอยู่ในระดับ ดีมาก และนำเครื่องไปทดลองใช้กับ 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทหาร กลุ่มนักศึกษาวิชาทหาร กลุ่มฝึกลูกเสือ กลุ่มงานก่อสร้าง กลุ่มสวนสาธารณะกลุ่มชุมชนทั่วไปและกลุ่มออกกำลังกายทั้งกลางแจ้งและภายในโรงยิม มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด
ด้านร้อยเอกอนุชาติ เกิดศิลป์ หัวหน้าชุดครูฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ทีมนักประดิษฐ์ได้นำเครื่องเฝ้าระวังฯ มาให้ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ศูนย์ย่อยวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ทดลองใช้ จากการทดลองใช้เครื่องฯ ต้องชื่นชมทีมนักประดิษฐ์ที่ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ มี Output หลายช่องทาง การใช้งานจึงได้หลากหลาย ซึ่งเดิมแล้ว ทางทหารใช้ธงเป็นสัญลักษณ์เพื่อแก้ไขปัญหาโรคลมแดด (Heat Stroke) ศูนย์ฝึกฯ มีความสนใจเครื่อง จึงได้เชิญให้มานำเสนอผลงาน เพื่อให้ผู้ปกครองกว่า 200 ชีวิต นักศึกษาทหารกว่า 500 นาย ที่มาร่วมงาน ณ ศูนย์ฝึกย่อยวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ ได้สบายใจที่ลูกหลานท่านมาฝึกกับเรา และผมมีความสนใจที่จะสั่งซื้อเครื่องมาใช้งานประจำศูนย์ฝึก จึงได้นำเสนอให้ ผบ.นฝ. นศท.มทบ. 25 พิจารณาและในเบื้องต้นทางเราก็จะได้ดำเนินการเชิญทีมนักประดิษฐ์จากวิทยาลัยการอาชีพศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน ได้นำเครื่องฯ มาแสดง ผลงานให้กับ นฝ.นศท.นศท.มทบ.25 ค่ายวีวัฒน์โยธิน ในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 ที่สนามกีฬาศรีณรงค์ ในวัน “นักศึกษาวิชาทหาร” ต่อทหาร ผู้ปกครองและนักศึกษาวิชาทหาร กว่า 6,000 นาย