เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร

การประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ
ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร




จังหวัดมุกดาหาร – พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 เพื่อประชุมสัมมนาขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร (พื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร หว้านใหญ่ และดอนตาล) ณ ห้องประชุม 205 ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร



พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งประกาศให้จังหวัดมุกดาหารเป็น 1 ใน 10 ของจังหวัดที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน นอกจากจังหวัดตาก สงขลา นครพนม สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย และนราธิวาส ซึ่งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร (Mukdahan Special Economic Development Zone) ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว การค้า การเกษตรกรรม และการลงทุนสูงมาก


ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงจำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มุกดาหาร ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาได้นำเสนอแผนงานโครงการ ความก้าวหน้าในการวางแผนจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมทั้งรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม


จากการรับฟังในครั้งนี้ ทำให้ได้รับทราบปัญหา เช่น การขาดแคลนบุคลากรในการสอนภาษาอาเซียน การเรียนการสอนสายวิชาชีพซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา แม้จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องคือ ทวิภาคี (Dual System) ทวิศึกษา (Dual Education) ทวิวุฒิ (Dual Degree) รวมทั้งโครงการสานพลังประชารัฐแล้วก็ตาม


จึงขอให้ กศจ.มุกดาหาร และหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปจัดทำแผนงานโครงการจัดการศึกษาแบบบูรณาการให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น และ 10 จังหวัดดังกล่าวจะต้องนำแผนงานโครงการและยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มาประชุมร่วมกันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559



นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และประธาน กศจ. กล่าวว่า จังหวัดมุกดาหารอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 642 กิโลเมตร เป็นจังหวัดชายแดนติดกับ สปป.ลาว มีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนความยาว  72 กิโลเมตร มี 7 อำเภอ 53 ตำบล 493 หมู่บ้าน ประชากร 3.48 แสนคน มากเป็นอันดับที่ 66 ของประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของจังหวัดเท่ากับ 24,898 ล้านบาท พื้นที่ในจังหวัดมากถึงร้อยละ 40 เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าว ยางพารา และการทำโคเนื้อ


เมื่อปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 5.9 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นคนไทย สร้างรายได้ให้จังหวัดถึง 2,431 ล้านบาท สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอยู่ที่แหล่งธรรมชาติและโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้น มีที่น่าสนใจ เช่น สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ตลาดอินโดจีน หมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการค้าชายแดนในปี 2558 สูงถึง 93,920 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ จีน ลาว และเวียดนาม และมุกดาหารยังเป็นเมืองคู่แฝดกับ 3 เมือง คือ แขวงสะหวันนะเขต : ลาว, จังหวัดกวางตรี : เวียดนาม, เมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง : จีน


สำหรับจังหวัดมุกดาหาร ได้กำหนดให้พื้นที่ 3 อำเภอ 11 ตำบลในจังหวัดมุกดาหาร คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร หว้านใหญ่ และดอนตาล เนื้อที่ 361,524 ไร่ หรือ 578.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนติดกับแม่น้ำโขง เป็น 1 ใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ


ภาวะการค้าชายแดนกับลาว เฉพาะที่ด่านพรมแดนจังหวัดมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพฯ 2) ประจำเดือนเมษายน 2559 ปรากฏว่ามีมูลค่าการค้าชายแดนรวม 7,710 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 3,386 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้ารวม 4,324 ล้านบาท ซึ่งมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยประมวลผลข้อมูลแผ่นวงจรพิมพ์, แท็งก์เปล่า, อุปกรณ์ทำด้วยโลหะ, ส่วนประกอบของกล้อง, น้ำมันเชื้อเพลิง, น้ำตาล, ชิ้นส่วนทำด้วยพลาสติก, เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง และส่วนประกอบเครื่องประมวลผลข้อมูล ส่วนสินค้านำเข้า ประกอบด้วยพลังงานไฟฟ้าทองแดงบริสุทธิ์, ส่วนประกอบของกล้อง, แท็งก์เปล่า, อุปกรณ์ทำด้วยโลหะ, หน่วยประมวลผลข้อมูล, เครื่องโทรศัพท์, เสื้อเบลาส์, เสื้อเชิ้ตสตรีหรือเด็กหญิง, ส่วนประกอบของเครน, ปั้นจั่นสูท, แจ๊กเก็ต,  กางเกงสตรีหรือเด็กหญิง และส่วนประกอบรองเท้า



การประชุมสัมมนาครั้งนี้ มีหลากหลายหน่วยงานการศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้า และความคิดเห็นที่สำคัญ ดังนี้




  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร เขต 1 และเขต 2   รายงานข้อมูลว่ามีโรงเรียนประถมศึกษาในจังหวัดจำนวนทั้งสิ้น 246 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนเมืองใหม่ อ.เมืองมุกดาหาร, โรงเรียนบ้านหว้านใหญ่ อ.หว้านใหญ่, โรงเรียนชุมชนดอนตาล อ.ดอนตาล เพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การศึกษาของมุกดาหาร “เมืองการศึกษาไร้พรมแดน พัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว แห่งลุ่มแม่น้ำโขง”



  • สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 22 (นครพนม-มุกดาหาร)  ซึ่งรับผิดชอบดูแลโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดมุกดาหาร จำนวนทั้งสิ้น 30 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนดอนตาลวิทยา อ.ดอนตาล, โรงเรียนหว้านใหญ่วิทยา อ.หว้านใหญ่, โรงเรียนมุกดาวิทยานกูล อ.เมืองมุกดาหาร



  • การอาชีวศึกษาจังหวัดมุกดาหาร  มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาในจังหวัด 7 แห่ง สอนในสาขาต่างๆ 14 สาขาวิชา โดยสาขาวิชาที่มีผู้เรียนมากที่สุด คือ การบัญชี ช่างยนต์ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ ทวิศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา มีผู้เรียน 332 คน ยังคงมีสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาในจังหวัดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เมื่อเทียบกับสายสามัญ คือ 42:58



  • วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร  เน้นจัดการศึกษาให้สนองตอบต่อประชาชนในท้องถิ่น 3 รูปแบบ คือ อนุปริญญา โดยสอนใน 7 สาขาวิชา, ประกาศนียบัตร สาขาต่างๆ เช่น นวดแผนไทย, หลักสูตรระยะสั้น เช่น การสอนภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม นอกจากนี้มีการลงนามความร่วมมือกับ 3 ประเทศดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน StartUp Thailand ด้วย



  • กศน.จังหวัดมุกดาหาร  มีหลายโครงการที่ดำเนินการแล้ว เช่น การลงนามความร่วมมือกับประเทศลาว การดำเนินการศูนย์การเรียนชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การจัดหาครูต่างประเทศเข้ามาสอนภาษา การจัดค่ายอาเซียนศึกษา ฯลฯ



  • ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด  มีการจัดการศึกษาระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมให้แก่คนพิการ จัดระบบการเรียนรวมสำหรับคนพิการในจังหวัด การจัดทำภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ เป็นต้น



  • การอุดมศึกษาจังหวัด  มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เปิดทำการสอนในสาขาวิชาต่างๆ สาขาที่นิยมเรียน คือ บัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ โลจิสติกส์ นวัตกรรมการจัดการ โดยมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดานัง ของประเทศเวียดนาม โครงการที่สำคัญคือ ส่งเสริมการสอนภาษาอังกฤษให้ผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้เสียเปรียบในการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตามมีประชาชนในจังหวัดต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น ไม่ได้เป็นวิทยาเขต



  • เลขาธิการหอการค้าจังหวัด ในนามภาคเอกชน ธุรกิจและประชาชน  มีความเห็นว่านับตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้มุกดาหารเป็น 1 ใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ภาคเอกชนต่างๆ คือ หอการค้า ชมรมธนาคารในจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ได้ร่วมกันสนับสนุนและเตรียมการโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดให้มีความพร้อมต่อการขยายตัวมากขึ้น เช่น การก่อสร้างขยายทางหลวง ถนนวงแหวน ทางเข้าด้านสะพานมิตรภาพฯ 2 ซึ่งได้จ่ายเงินเวนคืนเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันดำเนินการตามโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร เพื่อรองรับการบริหารจัดการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐพิจารณา คือ การสนับสนุนการอุดมศึกษากับประเทศคู่ค้า และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งตัวแทน กศจ. มุกดาหาร ในส่วนของการอุดมศึกษา จะได้นำข้อมูลต่างๆ ไปเสนอหน่วยงานส่วนกลาง (สกอ.) ได้พิจารณาต่อไป




บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น และคณะทำงาน รมช.ศธ. ถ่ายภาพ
29/6/2559