อ.แพทย์จุฬาฯ รับรางวัลแบบอย่างคุณธรรมจริยธรรม

 



   “อาจารย์แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมและจริยธรรมเป็นรางวัลที่แพทยสภามอบให้แก่อาจารย์แพทย์ผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพ ซึ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจในการปฏิบัติงาน โดยใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและประชาชนที่มารับการรักษาพยาบาล เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อาจารย์และผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพแพทย์ ในปี 2559 ผู้ที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากแพทยสภาให้ได้รับรางวัล อาจารย์แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่ รศ.นพ.เรืองศักดิ์ เลิศขจรสุข ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ


   “แพทย์เป็นวิชาชีพที่ถูกจับตามองและเป็นที่คาดหวังจากสังคม แพทย์รุ่นใหม่จะมีค่านิยมและการใช้ชีวิตที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงสำหรับวิชาชีพแพทย์คือการเป็นผู้ที่ต้องซื่อสัตย์และรับผิดชอบในหน้าที่เป็นอย่างสูง สิ่งสำคัญที่แพทย์จะต้องระลึกถึงเสมอคือความรอบคอบ ระมัดระวังในการปฏิบัติงาน ต้องคำนึงถึงปัจจัยและผลกระทบอื่นๆ ให้มากรศ.นพ.เรืองศักดิ์ เลิศขจรสุข อาจารย์แพทย์ผู้เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมและจริยธรรมประจำปี 2559 กล่าวถึงมุมมองและแง่คิดสำหรับผู้ทำงานวิชาชีพแพทย์ในปัจจุบัน 



    รศ.นพ.เรืองศักดิ์ เผยถึงงานในหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งในด้านการเป็นสูตินรีแพทย์ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยสตรีที่เป็นโรคมะเร็ง การเป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้แก่นิสิตแพทย์ พันธกิจทางด้านงานวิจัย ในโครงการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งในรก ซึ่งมักเกิดกับคนเอเชีย และสามารถรักษาให้หายได้ สาเหตุเชื่อว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีอุบัติการณ์ของมะเร็งรกอยู่ที่ 1 : 1,000 ของการคลอด ส่วนพันธกิจในงานบริหารนั้น ได้รับมอบหมายให้ดูแลศูนย์พัฒนาทักษะทางการแพทย์เสมือนจริง (Medical Simulation Training Center) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากจุฬาฯ ภายในศูนย์ฯ มีสถานการณ์จำลองแบบเสมือนจริง พร้อมทั้งอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ทางคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่นิสิตแพทย์ก่อนจะจบการศึกษาออกไปดูแลผู้ป่วยจริง 


   “หลักในการทำงานให้ประสบความสำเร็จคือ เรียนรู้จากความล้มเหลวของตนเองและผู้อื่นแล้วแก้ไข รวมทั้งทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วย งานสอน งานวิจัย และงานด้านการบริหารรศ.นพ.เรืองศักดิ์ กล่าว 


   รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ได้ฝากข้อคิดในการปฏิบัติงานสำหรับผู้ร่วมวิชาชีพแพทย์ว่า ในฐานะ ครูแพทย์ หน้าที่ความเป็นครูผู้ให้ความรู้เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกท่านทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หลักสูตรแพทย์ควรพัฒนาในเรื่องวิธีการสอนหรือให้ความรู้เข้าไปด้วย เรื่องที่ควรถ่ายทอดให้นิสิตไม่ได้มีแค่องค์ความรู้อย่างเดียว แต่ควรมีแง่มุมอื่นๆ ด้วย เช่น ความเข้าใจสังคม ทักษะการสื่อสาร ฯลฯ


 


ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/education/61577