ศึกษาธิการ –
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการยินดีรับข้อเสนอของ สทท.ในการที่จะร่วมกันพัฒนามาตรฐานวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบการศึกษาระบบทวิภาคี โดยจะมีการกำหนดหลักสูตรเฉพาะสำหรับตำแหน่งงาน การฝึกอบรมในสาขาการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ซึ่ง สทท.จะทำหน้าที่ประสานระหว่างกลุ่มสถานประกอบการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสถานศึกษา เพื่อพัฒนามาตรฐานผู้เรียนระดับ ปวช./ปวส. ในสาขาการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้ขอให้ สทท.จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านบุคลากรและนักวิชาการที่จะช่วยจัดทำหลักสูตรการอาชีวศึกษาหรือการอาชีพ และขอให้สำรวจความต้องการล่ามและมัคคุเทศก์ เพื่อจะได้ทราบความต้องการจำนวน สาขา และระดับความสามารถ ซึ่งการผลิตและพัฒนาเรื่องนี้ต้องอาศัยทั้ง สอศ. และมหาวิทยาลัยที่มีความถนัดด้านนี้ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย
ในส่วนที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ หลักสูตรระยะสั้น ที่จะเปิดสอนหรืออบรมทักษะด้านเทคนิค งานบริการ ภาษาต่างประเทศ ในระยะเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ที่สนใจที่จบการศึกษาแล้วและต้องการอบรมก่อนเข้าทำงาน หรือผู้ที่มีงานทำแล้วก็ตาม และจะนำไปใช้ประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนระดับ ปวช./ปวส. ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น จัดอบรมติวเข้มในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนจบการศึกษา นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือจากประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว เช่น สเปน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว และนำมาจัดทำมาตรฐานวิชาชีพให้มีความเป็นสากลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นได้นั้น ต้องสำรวจความต้องการของธุรกิจการท่องเที่ยวและพิจารณาความพร้อมของวิทยาลัยต่างๆ ด้วย และเมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจนแล้ว ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถส่งคนที่ทำงานแล้วมาเรียนกับ ศธ.ได้ หรือธุรกิจต่างๆ พร้อมที่จะรับผู้ผ่านหลักสูตรระยะสั้นเข้าทำงาน หรือกำหนดให้พนักงานใหม่ต้องได้รับอบรมจากหลักสูตรนี้ ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย และจะมีการขยายผลไปยังอาชีพอื่นๆ เช่น แท็กซี่ ต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการบางส่วนได้ในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากการหารือในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยจะขอให้นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้บริหารจาก สอศ.เป็นเลขานุการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะสอดรับกับการจัดตั้ง กรอ.อาชีวศึกษา โดยจะแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความร่วมมือในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวจะยึดความต้องการของสถานประกอบการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งจะมีแผนการทำงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ต่อเนื่อง และที่สำคัญในระยะเร่งด่วน คือ การฝึกอบรมระยะสั้นร่วมกันทั้งผู้ที่จะทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและครูผู้สอน
อย่างไรก็ตาม สอศ.จะต้องมีการปรับหลักสูตรและการเรียนการสอนอย่างมาก โดยเฉพาะการเรียนการสอนในสาขาการท่องเที่ยว ต้องเป็นการเรียนการสอนที่เข้มข้นและสามารถใช้งานได้จริง เช่น สอนเรื่องเดียวเป็นเวลา 2 อาทิตย์ การอบรมภาษาอังกฤษสำหรับแคดดี้ รวมทั้งอาจจะต้องปรับแผนการรับนักเรียนและการเตรียมความพร้อมของครูด้วย
จากการหารือครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงเส้นทางความก้าวหน้า (Career Path) ของสาขาการท่องเที่ยว มีโอกาสความก้าวหน้าที่สูงมาก หากได้รับพัฒนาให้มีมาตรฐานและมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จะมีรายได้สูงถึงหลักแสนบาท และได้ทราบว่าขณะนี้มาตรฐานธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย มีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานโรงแรมของอาเซียนแล้ว
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
28/10/2556