อาชีวะสร้างสรรค์

โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษ “อาชีวะสร้างสรรค์สังคมไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 โดยมี ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ครูอาจารย์ที่ปรึกษา ผู้นำนักศึกษาจากสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีการจัดการเรียนการสอนสายอาชีวะ จำนวน 69 แห่ง เข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้




● นโยบายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะ


รมว.ศธ.กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาก้าวหน้ามากพอสมควร โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากโลกมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการเพิ่มสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถของกำลังคนของประเทศ ในขณะเดียวกันเราก็ขาดคนสายอาชีพและผู้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้พัฒนาประเทศจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศกำลังเตรียมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง และทรัพยากรน้ำ โดยจะใช้งบประมาณราว 2 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ใหญ่มากและจะต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างมากมาย รวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้วย


ปัจจุบัน เมื่อนักเรียนจบชั้น ม.3 จะมีนักเรียนสนใจเรียนต่อสายอาชีวะเพียง 34% และจะมีนักเรียนที่ไม่เรียนต่อและเข้าสู่ระบบแรงงานถึง 1 แสนคนต่อปี ขณะเดียวกันจะมีนักเรียนไปเรียนต่อสายสามัญถึง 66% ซึ่งก็มีการเปิดสาขาวิชาต่างๆ มากเกินกว่าจำนวนผู้สมัคร ทำให้เกิดการตกงานจำนวนมากเมื่อจบการศึกษา ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนนี้ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ หากเป็นเช่นนี้ประเทศก็จะไม่เกิดการพัฒนา


ศธ.จึงร่วมกับ สอศ.ในการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสามัญเป็น 51:49 ในปี 2558 ประกอบกับองค์การสหประชาชาติได้ประกาศวาระโลกในการปรับทิศทางการศึกษา โดยเน้นสร้างกำลังคนที่มีทักษะฝีมือ รมทั้งการที่องค์การยูเนสโกเน้นสร้างทักษะพื้นฐานและที่จำเป็นต่อโลกของการทำงาน ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ ILO ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีงานทำของเยาวชน โดยได้แนะนำให้จัดการศึกษาและฝึกอบรมเน้นการพัฒนาทักษะแบบฐานกว้าง เพื่อประกอบอาชีพได้หลากหลายและรู้จักโลกของการทำงาน แนวโน้มประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษามากขึ้น และประเทศที่พัฒนาแล้วก็ให้ความสำคัญกับการอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นด้วย


แนวทางการปฏิรูปการอาชีวศึกษา


ศธ.จึงมีแนวทางการดำเนินการเพื่อปฏิรูปการอาชีวศึกษา ดังนี้


– เร่งรัดผลักดันให้เกิดระบบกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นระบบที่เกิดการสร้างมาตรฐานเพื่อพัฒนาคนสายอาชีพ นำไปสู่ระบบการจ้างงานตามความรู้ ทักษะ และความสามารถ ไม่ใช่วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตร จะมีการกำหนดทักษะของช่างแต่ละระดับ รวมทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทน ซึ่งในระดับ ปวช. ปวส. อาจจะมีรายได้สูงกว่าปริญญาตรีก็ได้


– ขยายและยกระดับการเรียนการสอนระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาร่วมกับภาคการผลิตในการจัดส่งนักเรียนนักศึกษาทั้งรัฐและเอกชนเข้าไปเรียนรู้ในสถานประกอบการที่มีความร่วมมือ ซึ่ง ศธ.จะร่วมมือกับภาคเอกชนตลอดกระบวนการ โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง กรอ.สอศ. กับ ศธ. และภาคเอกชน เพื่อออกแบบพัฒนาความต้องการกำลังคน ช่างประเภทต่างๆ ทักษะ ความสามารถ สมรรถนะ รวมทั้งการจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรมทั้งในสถานศึกษา/สถานประกอบการ โดยจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จากทั่วประเทศ กลุ่มจังหวัด รายจังหวัด และรายอุตสาหกรรม ดังนั้น ความร่วมมือจะกว้างมากขึ้น เป็นความร่วมมือภาพรวม


– ความร่วมมือกับต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อสร้างมาตรฐาน นำโมเดลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษามาใช้ รวมทั้งจะดำเนินโครงการร่วมกับสถานศึกษาหรือวิทยาลัยประเทศต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีนักลงทุนอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว


– ยกระดับมาตรฐานอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยรวบรวมตัวอย่างที่ดีและโมเดลที่มีความเหมาะสม นำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างนำร่อง ปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้สามารถกำหนดหลักสูตร คุณลักษณะ สมรรถนะต่างๆ ได้ ดังนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลง รองรับการผลิตคนสายอาชีวะที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของประเทศได้ดียิ่งขึ้น


– ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนและประเทศต่างๆ ด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากร แรงงานฝีมือ ที่มีมาตรฐาน และยกระดับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสดีของการพัฒนาอาชีวศึกษาและผู้จบอาชีวะในประเทศไทย ที่จะหางานทำได้ง่ายขึ้น มีรายได้ดีขึ้น





ภาพ สถาพร ถาวรสุข


เปลี่ยนภาพลักษณ์อาชีวะ


การจะทำให้คนสนใจการเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้น จะต้องมีการเปลี่ยนค่านิยมและภาพลักษณ์ของอาชีวะด้วย โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจกับคนในสังคม ที่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจปัญหานักเรียนตีกันตามที่มีข่าวนำเสนอ ซึ่งเป็นปัญหาของคนส่วนน้อยและเป็นปัญหาที่ ศธ.ต้องแก้ไขอยู่แล้ว แต่เป็นปกติของคนในสังคมที่ให้ความสนใจกับการเสนอข่าวในด้านลบมากกว่าข่าวด้านบวก ทำให้สื่อต้องเสนอข่าวด้านลบเพราะคนสนใจมากกว่า ทำให้ปัญหานักเรียนตีกันซึ่งเป็นเรื่องเล็ก แต่มีการนำเสนอข่าวใหญ่ คนทั่วไปก็จะรู้สึกว่า เป็นพฤติกรรมแบบเดิมๆ “เอาอีกแล้ว”


ในขณะที่อาชีวะมีเรื่องดีจำนวนมาก เช่น ความร่วมมือกับภาคเอกชน การจัดหลักสูตรที่ดี การออกหน่วยของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะในช่วงอุทกภัยซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่ก็ไม่ได้รับการเสนอเป็นข่าวเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ศธ.จะพยายามรวบรวมข้อมูลกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำเสนอข่าวอาชีวะให้มากขึ้น


ทั้งนี้ การสื่อสารภาพความจริงและความก้าวหน้าของการอาชีวศึกษาไปยังสาธารณะ ต้องอาศัยคนในวงการอาชีวะและคนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงขอให้เชิญศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ คนที่เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพและเป็นมืออาชีพ เพื่อมาถ่ายทอดความสำเร็จในชีวิต ความเป็นมา และแนวทางดำเนินชีวิตในอนาคต รวมทั้งการแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีวะในโรงเรียน ซึ่งเป็นความร่วมมือของ สพฐ. สช. และ สอศ.ที่จะมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมภาคเอกชนให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในสถานประกอบการ และเปิดโอกาสให้ผู้นำนักศึกษาอาชีวะได้เข้าไปแนะแนวในสถานศึกษาด้วยก็จะเป็นการดี


นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา โดยเลือกวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จ เพื่อดูว่ามีการเรียนภาคทฤษฎี/ภาคปฏิบัติอย่างไร และมีแนวคิดในการเรียนอย่างไร รวมทั้งนำนักเรียนนักศึกษาอาชีวะที่ประสบความสำเร็จมาเล่าประสบการณ์ เช่น ชนะการประกวด บริษัทจองตัว/รับเข้าทำงาน เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีวะ รวมทั้งจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเพื่อช่วยเปลี่ยนค่านิยมด้วย


รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การ “สร้าง” ของอาชีวะ คืออาชีวะกำลังจะสร้างประเทศ สร้างชาติในการพัฒนา และการ “สร้างสรรค์สังคม” มีการเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของอาชีวะ ผ่านโครงการต่างๆ ที่จะร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน เป็นของจริงที่จะนำไปใช้ในการเรียนรู้ เป็นพื้นฐานความคิดต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป ขอให้ช่วยกันคิดถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่ว่าจะใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หรือการให้นักเรียนนักศึกษาสนใจต่อสังคม ต่อปัญหาสังคมและบ้านเมือง รวมทั้งมีส่วนร่วมกับสังคมอย่างเหมาะสมได้อย่างไร ทำให้การเรียน การใช้ชีวิตระหว่างเรียน เป็นการใช้เวลาที่มีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจ ใช้ความรู้ ทักษะ ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจากการปฏิบัติจริงของนักเรียนนักศึกษาอาชีวะ


นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
20/11/2556